Close
Thailand and the world with daily News updates including news, articles.
About       Advertising       Contact

5 ข้อดีของการบริจาคเลือด ประโยชน์ที่ได้ มากกว่าแค่การให้

คุณรู้ไหมว่า ทุกวินาทีที่เราหายใจ มีผู้เสียชีวิตหลายรายด้วยสาเหตุจาก การเสียเลือด และยังมีผู้ที่ต้องการเลือดเพื่อต่อชีวิตอีกจำนวนมาก “การบริจาคเลือด” จึงเป็นวิธีที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นได้ นับว่าเป็นการให้ชีวิตและต่อลมหายใจให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่คุณสามารถทำได้ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเบียดเบียนร่างกายของคุณแต่อย่างใด

โดยปกติร่างกายของคนเราจะมีเลือดประมาณ 17-18 แก้ว (น้ำ) ด้วยกัน ในขณะที่ร่างกายต้องการใช้เลือดเพียง 15-16 แก้ว (น้ำ) เท่านั้น นั่นเท่ากับว่าเราจะมีเลือดที่ร่างกายไม่ได้ใช้ประมาณ 2-3 แก้ว (น้ำ) ที่รอวันหมอดอายุและสลายตัว ดังนั้น การบริจาคเลือด คือการให้เลือดส่วนเกินที่ไม่จำเป็นต้องใช้ นั่นเท่ากับว่าเราสามารถให้เลือดกับผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ และในเมื่อเลือดส่วนเกินของร่างกายเราสามารถช่วยต่อลมหายใจให้ชีวิตอื่นได้ ก็ย่อมดีกว่าปล่อยให้เลือดถูกกำจัดทิ้งโดยสูญเปล่า คุณว่าจริงไหมคะ 

การบริจาคเลือดไม่เพียงแต่เป็นการ “ให้” เท่านั้น แต่แฝงไปด้วยข้อดีที่คุณอาจคาดไม่ถึง เรามาดูว่า การบริจาคเลือด ประโยชน์ที่ผู้บริจาคจะได้รับกลับมามีอะไรบ้าง

1. ได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรี 

ฟรี! ว๊าวว ไหมคะ แม้ว่าจะเป็นเพียงการตรวจสุขภาพเบื้องต้นเท่านั้น แต่ถ้าเราเดินดุ่ม ๆ เข้าไปตรวจสุขภาพไม่ว่าจะแบบฟูลคอร์ส หรือแค่เซ็ตเบื้องต้นก็มีค่าใช้จ่าย จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละสถานที่นั้น ๆ แต่เมื่อเราจะบริจาค จะต้องผ่านการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน เช่น การวัดความดันโลหิต ตรวจหาค่าความเข้มข้นของเลือด ซักประวัติด้านสุขภาพ  ฯลฯ และถ้าหากผลออกมาว่าผ่านเกณฑ์ พร้อมกับคำยืนยันของแพทย์ จึงจะสามารถบริจาคเลือดได้ แต่ยังไม่จบเท่านั้น หลังจากบริจาคเลือดแล้ว เลือดที่เราบริจาคจะมีการนำไปตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อหาความผิดปกติของเลือด ว่ามีโรคอื่นแอบแฝงหรือไม่ เช่น เชื้อไวรัส HIV ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าเลือดนั้นสมบูรณ์และสามารถนำไปถ่ายให้ผู้ป่วยได้ ก่อนนำไปเก็บไว้ในคลังเลือดสำรอง และหากพบความผิดปกติใด ๆ ในเลือด จะมีการแจ้งกลับไปยังผู้บริจาคให้ทราบด้วย 

2. ช่วยป้องกันภาวะธาตุเหล็กเกินในร่างกาย 

ร่างกายคนเราต้องการธาตุเหล็ก แต่นั่นต้องอยู่ในปริมาณที่ร่างกายต้องการนำไปใช้เท่านั้น หากมีธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป ทำให้เกิด Hemochromatosis (ฮีโมโครมาโตซิส) หรือ ภาวะเหล็กเกิน เป็นอันตรายต่ออวัยวะอื่น ๆ ในระบบร่างกาย เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจ ไต ฯลฯ โดยจะไม่ทำให้เจ็บป่วยในทันที แต่จะเกิดอันตรายเมื่อมีการสะสมเรื่อย ๆ จนถึงเวลาหนึ่งที่มากพอส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้นการบริจาคเลือด จึงเป็นการช่วยลดปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายลง ลดความเสี่ยงต่อภาวะเหล็กเกินได้ 

3. ลดความเสี่ยงภาวะหัวใจวาย 

จากการศึกษาวารสารทางการแพทย์ American Journal of Epidemiology พบว่า การบริจาคเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง จะช่วยลดระดับธาตุเหล็กในร่างกาย ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของหลอดเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานจนหมดสติ หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจวาย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ  

4. ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

มีงานวิจัยหลายแห่ง อย่างเช่น การศึกษาจากศูนย์บริจาคโลหิต มิลเลอร์ – คีย์สโตน (Miller – Keystone Blood Center) ได้ระบุไว้ว่า การบริจาคเลือดเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง อันเนื่องมาจากร่างกายมีธาตุเหล็กมากเกินไป และมะเร็งอีกหลายประเภทด้วยกัน เช่น  มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งลำคอ

5. ช่วยเผาผลาญแคลอรี

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก พบว่า การบริจาคเลือดประมาณ 450 ml สามารถเผาผลาญพลังงานได้ราว ๆ 650 Kcal (กิโลแคลอรี) ซึ่งเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น โดยไม่สามารถนำไปเทียบกับการออกกำลังกายได้  

เมื่อรู้ข้อดีการบริจาคเลือดและต้องการจะไปบริจาคเลือด สามารถไปบริจาคเลือดที่ไหนได้บ้าง? 

1. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย 

2. สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) 

3. โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต เขตกรุงเทพ 6 แห่ง 

  • โรงพยาบาลตำรวจ 
  • โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า 
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี 
  • โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 
  • สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฏเกล้า 

4.. หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่

  • เดอะมอลล์สาขาบางแค , บางกะปิ , งามวงศ์วาน และ ท่าพระ 
  • ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรียม 
  • บ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง) 

5. ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ 

  • เชียงใหม่
  • พิษณุโลก
  • นครสวรรค์
  • อุบลราชธานี
  • ขอนแก่น
  • นครราชสีมา
  • ลพบุรี 
  • ราชบุรี 
  • ชลบุรี
  • นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) 
  • ภูเก็ต 
  • สงขลา

*ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะเดินทางไปบริจาคเลือด ควรเช็คและติดต่อสอบถามในแต่ละสถานที่ให้ดีก่อนเดินทาง รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นในการเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด เพื่อจะได้ไม่เกิดผลกระทบและเสียเวลาในการเดินทาง

scroll to top