เบื่อไหม ตามขอบห้องน้ำรั่ว ซึม ยิ่งถ้าห้องน้ำอยู่ชั้นบน น้ำหยดซึมลงข้างล่าง เชื่อว่าเป็นอะไรที่น่าเบื่อของทุกบ้าน และถ้าใครอยู่คอนโด อพาร์ทเมนท์ ห้องชุด ห้องเช่า ที่ต้องมีเพื่อนร่วมตึก แล้วห้องน้ำของเราดันอยู่ด้านบน ก็ย่อมทำให้ห้องด้านล่างไม่พอใจแน่นอน หลายคนอาจคิดว่าขั้นตอนการทำยาแนวกันซึมนั้นยุ่งยาก แต่ที่จริงแล้วการยาแนวกระเบื้องไม่ได้ยากจนเกินไป สามารถทำด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องจ้างช่างเสียด้วยซ้ำ และผู้หญิงที่อยู่คนเดียวก็สามารถทำได้ด้วยตนเองเช่นกัน
แต่ก่อนที่จะไปรู้ถึงวิธีการยาแนวกระเบื้องด้วยตนเองนั้น จะต้องรู้จักยาแนวคืออะไร ยาแนวมีกี่ประเภท จะได้เลือกใช้ให้เหมาะกับกระเบื้องที่บ้าน และช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับพื้นบ้านหรือพื้นอาคารได้อีกด้วย

ยาแนวคืออะไร
ยาแนว คือ วัสดุที่มีลักษณะคล้ายกาว มีความยืดหยุ่นสูง โดยกาวยาแนวทำหน้าที่เชื่อมรอยต่อกระเบื้องแต่ละแผ่นเข้าด้วยกัน ซึ่งปกติแล้วจะมีการลงยาแนวตอนปูกระเบื้อง ด้วยการเว้นช่องว่างระหว่างกระเบื้องที่เรียกว่าร่องยาแนว โดยจะเว้นไว้ประมาณ 1-3 มม. หรือขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้องที่ปู การยาแนวกระเบื้องจะช่วยปอดร่องไม่ให้น้ำหรือฝุ่น และสิ่งสกปรกต่าง ๆ แทรกตัวเข้าไปแอบซ่อนใต้แผ่นกระเบื้อง และช่วยรองรับการยืดตัวของกระเบื้อง ที่อาจเป็นสาเหตุของการรั่วซึมได้นั่นเอง
ยาแนวกระเบื้อง หรือ Tile Grout ทำจากปูนซีเมนต์ ปูนขาว เม็ดสี และทราย ซึ่งมีลักษณะเป็นผง และมีสีหลากหลายให้เลือกเพื่อให้กลมกลืนหรือใกล้เคียงกับสีกระเบื้อง เวลาใช้งานซีเมนต์ยาแนวจะต้องนำน้ำมาผสมก่อนที่จะปาดไปบนร่องกระเบื้อง แล้วจึงปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง และตอนนี้ก็มียาแนวสำเร็จรูปและยาแนวแบบหลอดจำหน่ายทั่วไป ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น

ประเภทของยาแนวมีอะไรบ้าง
- ซิลิโคน เป็นยาแนวที่มีความยืดหยุ่นสูงถึง 25% เป็นสารประกอบอนินทรีย์ มีแรงยึดเกาะสูง ทนต่อรังสียูวี ใช้งานได้หลากหลาย จึงสามารถใช้งานภายนอกอาคารได้ มีหลายสี โดยส่วนใหญ่หากเป็นแบบใสจะใช้กับงานกระจกทั่วไป ยาแนวสีขาวนิยมใช้กับสุขภัณฑ์ ในขณะที่สีดำจะใช้กับกระเบื้องสีเข้ม (ดูวิธีเลือกกระเบื้องปูห้องน้ำ) ยาแนวซิลิโคนมีข้อเสียคือ ทาสีทับไม่ได้ และมีราคาแพงกว่าวัสดุยาแนวชนิดอื่น
- โพลียูริเทน หรือ พียู มีความยืดหยุ่น 35% แข็งแรง แห้งแล้วไม่หดตัว ทาสีทับได้ ทนแสงยูวีได้ระดับหนึ่ง ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ใช้ปิดรอยต่อเมทัลชีท ไม้ อลูมิเนียม เหล็ก กระจก โพลีคาร์บอเนต และแผ่นพลีคาสท์คอนกรีต
- อะคริลิค ทำจากวัสดุกลุ่มไฮโดรคาร์บอน มีความยืดหยุ่นเพียง 5% มีน้ำเป็นตัวทำละลาย แต่เมื่อแข็งตัวแล้วจะไม่ละลายน้ำ ข้อดีคือ ปิดรอยและทาสีทับได้ ราคาถูก แต่เพราะมีความยืดหยุ่นน้อย จึงรับแรงได้น้อยตามไปด้วย อีกทั้งมีน้ำเป็นตัวทำละลาย ทำให้ไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่เปียกชื้น
- โมดิฟายซิลิโคน หรือ ยาแนวไฮบริด เพราะผลิตโดยการรวมข้อดีของซิลิโคนกับพียูเข้าด้วยกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นและการยืดเกาะสูง ป้องกันรังสียูวี ทาสีทับได้ ใช้งานกับพื้นที่เปียกชื้นได้ ใช้กับวัสดุได้หลายชนิด

วิธียาแนวกระเบื้องด้วยตัวเอง
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- แผ่นฟองน้ำ
- เกรียง หรือ มืดคม ๆ
- ที่ขูดยาแนวกระเบื้อง (จำหน่ายตามร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง)
- น้ำยาล้างห้องน้ำ
- ปูนยาแนว หรือ กาวยาแนว
- ผ้าแห้ง
- ภาชนะสำหรับผสมปูนยาแนว
- ถังน้ำสำหรับใส่น้ำ
ขั้นตอนยาแนวกระเบื้องปูพื้นห้องน้ำ
- ทำความสะอาดห้องน้ำให้สะอาดแล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นใช้เกรียงหรืออุปกรณ์คม ๆ ขูดเอายาแนวเก่าตามร่องกระเบื้องออกให้หมด แล้วทำความสะอาด เช็ดหรือปล่อยให้พื้นแห้งสนิท
- ผสมปูนยาแนวตามสัดส่วนที่ระบุแจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ ให้มีลักษณะเป็นครีมข้น ๆ พักไว้ 10-15 นาที เพื่อให้ปูนบ่มตัว แต่ก็ต้องหมั่นคนปูนยาแนวบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ปูนแข็งตัว หรือจะใช้วิธีค่อย ๆ ผสมทีละน้อย ค่อย ๆ ไล่ทำไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปูนแข็งตัวก่อนจะทำเสร็จทั่วบริเวณที่ต้องการ แต่ถ้าใช้แบบปืนยิงก็ใช้ฉีดตามร่องกระเบื้องได้เลย
- เมื่อปูนได้ที่ตามต้องการแล้ว ใช้เกรียงตักปูนแล้วปาดไปตามร่องกระเบื้องพร้อม ๆ กับน้ำ ใช้แผ่นฟองน้ำชุบน้ำหมาด ๆ คอยเช็ดคราบปูนที่ล้นออกตามร่อง ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทั่วห้อง จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท หรือปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 5-8 ชั่วโมง โดยห้ามใช้ห้องน้ำ หรือห้ามให้บริเวณที่ลงยาแนวเปียกน้ำจนกว่าจะครบตามเวลา

เทคนิคการยาแนวให้ได้ประสิทธิภาพ
อีกเคล็ดลับการยาแนวให้ได้ผลดีและมีอายุการใช้งานได้นาน คือ การยาแนวแบบไล่ไปทีละแถวของกระเบื้อง จะเป็นในแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้ หากมีคราบล้นออกจากร่องให้รีบเช็ดออกทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะปูนซีเมนต์ยาแนวแข็งตัวแล้วจะทำความสะอาดยาก กรณีที่ไม่มีอุปกรณ์หรืออุปกรณ์ไม่ครบ สามารถหาวัสดุอื่นใช้ทดแทนได้ เช่น ใช้มีดหรือคัตเตอร์คม ๆ ใช้ขูดยาแนวเก่า ใช้ช้อนเก่า ๆ ตักปูน หรือใช้ไม้บรรทัดที่เรียบ ๆ ปาดปูนแทนเกรียงได้เช่นกัน
หวังว่าวิธีการยาแนวด้วยตนเองง่าย ๆ จะเป็นประโยชน์ให้กับใครที่กำลังเจอกับปัญหาต่าง ๆ และต้องใช้วิธีการยาแนวเป็นคำตอบ คราวนี้ก็สามารถทำเองได้ ไม่ต้องง้อช่างแล้ว แต่อย่าลืมดูกาวยาแนวให้ดี ๆ เพราะถึงแม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายกาว แต่ก็ใช้งานไม่เหมือนกัน การใช้งานกาวร้อนก็แตกต่างจากกาวช้าง ดังนั้นต้องดูให้ดีก่อนจะตัดสินใจซื้อ หรือถ้าไม่แน่ใจก็สอบถามและขอคำแนะนำจากคนขายก่อน จะได้ซื้อมาใช้ให้ถูกกับงาน