วันออกพรรษา หมายถึง วันที่ถือเป็นวันสิ้นสุดในการจำพรรษาหรือวันที่พระภิกษุพ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยในช่วงฤดูฝนและจะต้องอยู่ให้ครบอีก1ราตรีจึงจะครบถ้วนบริบูรณ์ โดยวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และสำหรับวันออกพรรษา 2564 จะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2564
ความสําคัญของวันออกพรรษา
วันออกพรรษาคือ วันปาวรณาหรือวันมหาปาวรณา คือวันที่มีพิธีสังฆกรรมใหญ่ เป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาร่วมกันมาตลอดระยะเวลา 3 เดือน สามารถว่ากล่าวตักเตือนในข้อบกพร่องของแต่ละรูปได้ในทุกกรณี แต่ต้องเป็นไปด้วยความเมตตาและเพื่อชี้ทางที่ถูกที่ควร ได้อย่างเสมอภาคโดยไม่แบ่งยศศักดิ์ และหลังจากวันที่ออกพรรษาแล้วภิกษุสงฆ์สามารถปฏิบัติเผยแผ่ศาสนาได้ตามปกติและสามารถจาริกค้างแรมที่อื่นได้โดยไม่ผิดข้อพุทธบัญญัติใดๆ

วันเทโวโรหณะ
มีการทำบุญวันออกพรรษาในวันเทโวโรหณะ ซึ่งจะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ในทุกปี (ถัดจากวันสิ้นสุดออกพรรษา1วัน) หรือที่เรียกว่า“ทำบุญตักบาตรเทโว” โดยนิยมทำข้าวต้มมัดมาใส่บาตร เพื่อระลึกวันรับเสด็จพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกมายังโลกมนุษย์โดยคำว่า “เทโว” จากตักบาตรเทโวมาจากคำว่าเทวโลกนั่นเอง
โดยประวัติวันเทโวโรหณะได้กล่าวว่า ความสำคัญของวันนี้คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับลงมาจากการแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาและจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ณ เทวโลกสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยในพรรษาที่ 7 พระพุทธองค์ได้ประทับอยู่บนบัณฑุกัมพลศิลาเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ซึ่งที่จริงแล้วพระนางประทับอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่มาเข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ณ ชั้นดาวดึงส์ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับลงเมืองมนุษย์ ที่เมืองสังกัสส์ใกล้เมืองพาราณสี โดยมีผู้คนมากมายมาทำบุญตักบาตรรับเสด็จ และในวันนี้เองที่เป็นวันพระเจ้าเปิดโลก เพราะพระพุทธเจ้าทรงให้โลกธาตุทั้ง 3 ได้แก่ สวรรค์ โลกมนุษย์ และ นรก สามารถมองเห็นกันได้โดยไม่มีอะไรปิดกั้น ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นถึงความสวยงามของเมืองสวรรค์ และความน่ากลัวของเมืองนรก เปรียบเสมือนเป็นคติธรรมวันออกพรรษา โดยการให้มนุษย์ได้เห็นเส้นทางที่ต้องไปตามการกระทำของตนหลังจากสิ้นสุดการเป็นมนุษย์
หลังออกพรรษา 1 เดือน จะมีประเพณีเทศน์มหาชาติ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนิยมฟังเทศน์ใหญ่จนจบกัณฑ์ถือว่าจะได้บุญมาก พร้อมทั้งร่วมทำการทอดกฐินออกพรรษา เป็นกฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท สร้างความสามัคคีระหว่างคณะสงฆ์และอนุเคราะห์ภิกษุที่มีจีวรชำรุดได้เปลี่ยนไตรจีวรผืนใหม่ โดยการทอดกฐินจะมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ แรม1 ค่ำ เดือน11 จนถึง ขึ้น15 ค่ำ เดือน12 จะต่างจากผ้าป่าที่สามารถทำการทอดได้ทั้งปี
ประเพณีบุญออกพรรษา
ที่นอกจากการตักบาตรเทโวโรหณะแล้ว พุทธศาสนิกชนยังมีประเพณี ออกพรรษาที่จัดขึ้นในช่วงออกพรรษาเท่านั้น ได้แก่
ประเพณีข้าวต้มลูกโยนสระบุรี เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานของจังหวัดสระบุรี โดยเมื่อครั้งพุทธกาลในวันที่พระพทธเจ้าได้เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์หลังจากประทับจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประชาชนได้มารอใส่บาตรพระองค์เป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ไกลออกไปใส่ไมถึง จึงทำการโยนเพื่อใส่บาตร และอาหารเหล่านั้นก็สามารถลงไปในบาตรพระพุทธองค์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ กลายเป็นประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนจนถึงปัจจุบัน
บั้งไฟพญานาคประเพณีออกพรรษาภาคอีสาน
มีการจัดบั้งไฟหรือบุญบั้งไฟพญานาค เป็นการทำบุญออกพรรษาภาคอีสานทุกปี โดยออกพรรษาปีนี้ เป็นบุญบั้งไฟพญานาคโลก 2564 จะจัดตั้งแต่วันที่ 21-23 ตุลาคม 2564 ตามมาตรการณ์สถานการณ์โควิด และทางจังหวัดหนองคายได้จัดสถานที่ดูบั้งไฟพญานาคขึ้นหลายพื้นที่ ได้แก่
-ลานวัฒนธรรมหน้าวัดลำดวน เขตเทศบาลหนองคาย
-บริเวณหน้าลานที่ว่าการอำเภอรัตนวาปี
-บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม
-ลานนาคาเบิกฟ้า ต.จุมพล อ.โพนพิสัย
-พุทธอุทธยานนานาชาติ ต.กุดบง อ.โพนพิสัย
ประเพณีรับบัววัดบางใหญ่ สมุทรปราการ
ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีโบราณของชาวบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ถือได้ว่าเป็นประเพณีบุญออกพรรษาทางภาคกลาง จะจัดในวันขึ้น14 ค่ำ เดือน11 ของทุกปี โดยอัญเชิญหลวงพ่อโตองค์จำลองจากวัดบางพลีใหญ่ลงเรือที่ถูกตกแต่งด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม ล่องไปตามคลองบางพลีเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำการสักการะเพื่อเป็นศิริมงคล และมีความเชื่อว่าหากใครได้โยนบัวลงเรือที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตพร้อมคำอธิษฐาน ก็จะสมปรารถนาตามที่อธิษฐานไว้
ประเพณีชักพระ สุราษฎร์ธานี
การชักพระหรือการชักเรือพระ เป็นประเพณีออกพรรษาที่เห็นได้ในทางภาคใต้ แต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะมีการจัดประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี โดยชาวสุราษฏร์ฯจะช่วยกันนำเรือพนมพระมาตกแต่งอย่างสวยงาม ตามภูมิปัญญาชาวบ้านและจินตนาการสร้างสรร อาจจัดตกแต่งเป็นรูปพญานาค พญาครุฑ หงส์ ฯลฯ หลังจากนั้นชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจลากจูงเรือพระที่ตกแต่งอย่างสวยงามไปตามท้องถนนในเส้นทางที่งานกำหนด ตลอดระยะทางที่เรือถูกลากผ่าน จะมีประชาชนมารอชมความสวยงามของเรือจากชุมชนและวัดต่างๆ อาจร่วมทำบุญหรือร่วมขบวนแห่ลากจูงเรือเป็นระยะๆ เพราะมีความเชื่อว่าการได้มีส่วนร่วมในการลากจูงเรือพระจะได้บุญมาก
ประเพณีจุดไฟตูมกา ยโสธร
ประเพณีโบราณของชาวบ้านทุ่งแต้ จังหวัดยโสธร โดยชาวบ้านจะนำผลตูมกา ผลไม้ป่าที่มีลักษณะกลมคล้ายผลส้ม นำมาคว้านเมล็ดข้างในออก แล้วฉลุลวดลายบนเปลือกอย่างสวยงาม ใส่เทียนไว้ข้างใน แล้วนำไปถวายเป็นพุทธบูชาโดยมีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่สวยงาม แต่ปัจจุบันได้มีการนำหลอดไฟใส่ไว้ด้านในแทนเทียน
นอกจากประเพณีต่างๆที่มีการจัดในวันออกพรรษาแล้ว กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนยึดถือปฏิบัติในวันออกพรรษาด้วยการ ถืออุโบสถศีล หรือศีล5 ปฏิบัติธรรม รักษาความสงบกายวาจาให้เรียบร้อย ไปวัดเพื่อฟังเทศนาธรรม ทำบุญ ตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ปักธงชาติตามบ้านเรือนและสถานที่ราชการ รวมถึงการติดธงธรรมจักรตามวัดและสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา บางคนอาจได้หยุดหลายวันเพราะมีวันหยุดประจำภาค อย่างไรก็ตามเดินทางด้วยความไม่ประมาท ใส่แมส ล้างมือ พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง เพื่อจะได้เที่ยวอย่างปลอดภัย ทำบุญสบายใจ ห่างไกลโรคภัยกันนะคะ