อากาศร้อนจัดช่วงนี้ ส่งผลให้คนป่วยและเกิดอาการฮีทสโตรกมากขึ้น แม้แต่สัตว์เลี้ยงก็สามารถเป็นฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด และอาจอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น บ้านไหนที่มีสัตว์เลี้ยง ต้องหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน และศึกษาข้อมูลน้องหมาน้องแมวเป็นฮีทสโตรกทำไงดี ถึงจะช่วยรักษาชีวิตของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นไว้ได้ เพราะฮีทสโตรก (Heatstroke) เมื่อเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงจะมีผลต่ออวัยวะภายในหลาย ๆ ส่วน อาจทำให้คุณสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักไปอย่างไม่หวนกลับ หากรักษาพวกเขาไม่ทัน
อย่างที่ใครหลายคนทราบกันดีว่าฮีทสโตรก คือ โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน และจะส่งผลกระทบรุนแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้โดยฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จะมีขนปกคลุมร่างกายจำนวนมาก อาจทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกได้ง่าย หากร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี

สาเหตุโรคฮีทสโตรกในสุนัข และ แมว
โรคลมแดดในแมว หรือ ฮีทสโตรกสุนัข เกิดจากการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว และร่างกายระบายความร้อนออกไม่ทัน ทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการตัวร้อน และอาจส่งผลต่อหัวใจ ไต ปอด และประสาท ไม่สามารถทำงานได้ปกติ จนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด โดยสาเหตุที่ทำสุนัขและแมวเป็นฮีทสโตรก มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น
- ขนยาว ขนเยอะ ทำให้ระบายความร้อนไม่ทัน
- สัตว์เลี้ยงทำกิจกรรมมากเกินไป
- ติดเชื้อทำให้มีไข้สูง
- ทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ หรือ ในที่มีอากาศร้อนจัด
- ความเครียดในสัตว์เลี้ยง ทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดสูบฉีดเลี้ยงอวัยวะไม่ทัน

วิธีสังเกตอาการฮีทสโตรกของแมวและสุนัข
- มีอาการหายใจรุนแรง หายใจไม่ทัน อ้าปากหายใจ และ หอบมากกว่าปกติ
- ม่านตาขยาย นิสัยเปลี่ยนไป ดุกว่าปกติ จำเจ้าของไม่ได้ในระยะสั้น ๆ
- น้ำลายยืด น้ำลายเหนียวกว่าปกติ ซึม เดินเซ เบื่ออาหาร นอนกับที่นาน ๆ
- ตา เหงือก และ ลิ้น มีสีแดงมากกว่าปกติ หรือ ซีด ในรายที่มีอาการรุนแรง
- ร่างกายมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาฯ ขึ้นไป

วิธีป้องกันฮีทสโตรกสุนัขและแมว
- ไม่ควรพาสัตว์เลี้ยงออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด
- พาสัตว์เลี้ยงทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่แดดร่ม และในเวลาที่เหมาะสม
- วันที่อากาศร้อนจัด ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ร่ม เปิดพัดลมหรือแอร์ให้สัตว์เลี้ยง
- ควรมีน้ำสะอาดตั้งให้สัตว์เลี้ยงอยู่ตลอดเวลา และหากตั้งไว้หลาย ๆ จุดได้ยิ่งดี

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อแมวและสุนัขเป็นฮีทสโตรก
- นำสัตว์เลี้ยงเข้าที่ร่ม หรือสถานที่อากาศถ่ายเทได้ดีโดยเร็วที่สุด
- ปลดพันธนาการของสัตว์เลี้ยงให้หมด (ถ้ามี) เช่น โซ่ ปลอกคอ สายรัดอก สายจูง เสื้อผ้า
- นำผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติบิดหมาด (อย่าใช้ผ้าเปียกน้ำร้อนหรือเย็นเกินไป) เช็ดตามตัว ขาหนีบ และฝ่าเท้า เพื่อคลายความร้อน และปรับอุณหภูมิในร่างกายของน้องหมาน้องแมว
- จากนั้นรีบนำตัวส่งสัตว์แพทย์ให้เร็วที่สุด