เดี๋ยว ๆ ก็ฝนตก เดี๋ยว ๆ ก็น้ำท่วมขัง นอกจากมนุษย์อย่างเรา ๆ จะเดือดร้อนแล้ว สัตว์ทั่วไปก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะสัตว์มีพิษต่าง ๆ ที่ปกติก็หลบซ่อนตามหลืบ ตามร่องทั่วไป แต่พอฝนตก น้ำท่วมขังที่หลบอาศัย พวกมันก็จะอพยพหนีตาย ทำให้เรามักเห็นสัตว์พิษทั้งหลายออกมาเพ่นพ่าน และหนีเข้าบ้านคนกันบ่อย ๆ ซึ่งพวกมันได้สร้างความตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก เพราะสัตว์พิษเหล่านี้สามารถทำอันตรายแก่คนและสัตว์เลี้ยงในบ้าน หลายบ้านที่ต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักเพราะพิษของจอมวายร้ายเหล่านี้ ดังนั้นเรามารู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับอาการเจ้าตัวป่วนของบ้านหากโดนวายร้ายเล่นงานกันดีกว่า เพื่อเพิ่มโอกาสรักษาชีวิตสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราให้ได้มากที่สุดค่ะ
สัตว์พิษจอมวายร้ายที่มักจะบุกรุกเข้าบ้านคน และพบได้บ่อยมากที่สุดช่วงหน้าฝนแบบนี้ โดยมีตั้งแต่สัตว์มีพิษเล็กน้อย ไปจนถึงสัตว์ที่มีพิษรุนแรง เช่น คางคก กิ้งกือ ตะขาบ แมงป่อง งู ซึ่งเมื่อเราพบเห็นสัตว์เหล่านี้ เรามักจะหลีกเลี่ยงและหนีให้ไกลห่างที่สุด แต่เจ้าพวกสัตว์เลี้ยงตัวป่วนทั้งหลายของเรา ชอบไปเล่นซุกซน หรือสู้ไม่ยอมถอยห่างหนีสิ ทำให้ได้รับบาดเจ็บและพิษจนมีอาการเจ็บป่วยได้ และเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราโดนพิษจากจอมวายร้ายเหล่านี้ เราจะมีวิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับพวกเขา ดังนี้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับพิษ
คางคก
คางคก ได้ยินแล้วอาจตลก แต่ไม่ขำนะคะ เพราะคางคกมีพิษที่สามารถทำร้ายสัตว์เลี้ยงของเราได้ได้ อาจไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็สร้างความเจ็บปวดให้กับพวกเขาได้ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับอาการแพ้และความแข็งแรงของสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว แต่สัตว์เลี้ยงบางตัวที่มีอาการแพ้รุนแรงและรักษาไม่ทัน ก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกันนะ ส่วนมากเมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับพิษคางคก จะมีอาการระคายเคืองที่หน้าและปาก เพราะเจ้าพวกตัวป่วนของเราชอบใช้จมูกไปดุน หรือใช้ปากอมคางคกเล่น ทำให้คางคกพ่นพิษใส่โดนบริเวณนี้เป็นส่วนใหญ่ และทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น มีน้ำลายไหลมาก หอบ กระสับกระส่าย มีอาการบวมแดง
วิธีปฐมพยาบาลพิษคางคก : ให้รีบล้างปาก ใบหน้า และบริเวณที่โดนพิษ หรือบริเวณที่มีอาการบวม เพื่อชะล้างเอาพิษออกให้มากที่สุด โดยฉีดน้ำล้างประมาณ 5 – 10 นาที หากมีการสัมผัสพิษนาน หรือมีอาการบวมให้รีบพาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลสัตว์
กิ้งกือ
กิ้งกือเหมือนจะไม่มีพิษสง แต่จริง ๆ มีพิษด้วยเช่นกัน แต่มีพิษน้อย สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับบริเวณที่สัมผัสกิ้งกือได้ เช่น บริเวณปาก ใบหน้า อุ้งเท้า หรือลำตัว อาการแพ้พิษกิ้งกืออาจไม่บ่งบอกได้ชัด แต่ถ้าเห็นสัตว์เลี้ยงสัมผัสกิ้งกือ ให้รีบทำความสะอาดและปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ก่อนเลยค่ะ
วิธีปฐมพยาบาลพิษกิ้งกือ : ใช้น้ำสะอาดล้างบริเวณที่ระคายเคือง หรือบริเวณที่มีการสัมผัสกิ้งกือ และรอดูอาการประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง หากสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ ให้รีบนำตัวส่งสัตวแพทย์ทันที

ตะขาบ
ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยในทุกฤดู แม้พิษจะไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าคนหรือสัตว์เลี้ยงที่แพ้มาก ก็เป็นอันตรายรุนแรงได้เช่นกัน โดยอาการพิษของตะขาบมักสร้างความเจ็บปวดที่แผลให้แก่คนหรือสัตว์ที่โดนตะขาบกัด มีอาการบวมที่แผล หากแพ้พิษตะขาบมาก แผลก็จะบวมมาก และอาจมีการติดเชื้อได้
การปฐมพยาบาลพิษตะขาบ : ใช้น้ำเกลือทำความสะอาดแผล และบีบไล่เอาเลือดเสียออกเบา ๆ อย่ากดแรง เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ แผลถูกทำลาย และยิ่งทำให้แผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
แมงป่อง
แมงป่อง เป็นสัตว์มีพิษอีกชนิดหนึ่งที่บุกรุกบ้านคนได้บ่อยในช่วงฤดูฝน หากสัตว์เลี้ยงโดนแมงป่องต่อย มีอาการน้ำลายฟูมปาก อาเจียน อ่อนแรง เลือดไหลไม่หยุด
วิธีปฐมพยาบาลพิษแมงป่อง : วิธีดูแลเบื้องต้นคล้าย ๆ กับการปฐมพยาบาลตะขาบหรืองูกัด ใช้น้ำเกลือล้าง แต่ต้องรีบนำตัวส่งให้ถึงมือสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด หรือใช้น้ำเกลือล้างแผลให้ระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อลดการเสียเวลา
งู
งู สัตว์ร้ายที่ใคร ๆ ก็ขออยู่ห่าง ๆ ทั้งงูมีพิษและงูไม่มีพิษ แต่พวกมันก็ชอบเข้าหามนุษย์ด้วยการบุกหาถึงบ้านอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนแบบนี้ ทำให้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงตกอยู่ในอันตรายทุกเวลา หากสัตว์เลี้ยงของเราถูกงูมีพิษกัด บาดแผลจะมีรอยเขี้ยว 1 – 2 แผล ในขณะรอยกัดของงูไม่มีพิษจะเป็นรอยถากเป็นแนวรอยฟัน อาการเมื่อโดนงูกัด เช่น หน้าบวม ตัวบวม มีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออก อาจเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้ อาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด
การปฐมพยาบาลพิษงู : ใช้ผ้าหรือเชือกสะอาดรัดบริเวณเหนือแผลราว 1 นิ้วให้แน่น แล้วรีบนำตัวสัตว์เลี้ยงส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และควรจดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อให้หมอได้วินิจฉัยในการรักษาได้อย่างเหมาะสม