ชาวออฟฟิศทั้งหลายย่อมรู้จัก ประกันสังคม ที่เราจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนกันอยู่เป็นประจำในทุก ๆ เดือน ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยเหลือเมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วย จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่อาจยังมีใครอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า สำนักงานประกันสังคมยังมีโครงการซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกันตน คือ “คลินิกโรคจากการทำงาน” แล้วคลินิกนี้ต่างจากโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมอย่างไร วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันค่ะ

คลินิกโรคจากการทำงานคืออะไร
คลินิกโรคจากการทำงาน คือ โครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับการจัดตั้งคลินิกเพื่อดูแลด้านสวัสดิการลูกจ้างและแรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมทั้งการตรวจรักษา วินิจฉัยโรค รวมไปถึงการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานในโรงพยบาลของรัฐที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

โรคจากการทำงานคืออะไร และอาชีพใดที่สามารถใช้บริการคลินิกโรคจากการทำงานได้
โรคจากการทำงานในที่นี้ เน้นในส่วนของลูกจ้างหรือพนักงานภาคอุตสาหกรรม ที่ทำงานในโรงงาน หรือที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายระหว่างทำงาน เช่น คนที่ทำงานกับเครื่องจักร คนที่ทำงานกับสารเคมี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งประเภทโรคจากการทำงานเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. โรคจากการประกอบอาชีพ
โรคจากการประกอบอาชีพ คือ โรคที่เกิดจากมาจากการทำงานนั้น ๆ โดยตรง เป็นปัจจัยเดียวที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันที เช่น ได้รับสารเคมีจากที่ทำงาน มีอาการแสบตา แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือมีการสัมผัสสารกำจัดแมลงในขณะฉีดพ่น ทำให้เกิดมีอาการแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน น้ำตาไหล มีผื่นคันตามผิวหนัง เป็นต้น หรืออาจเกิดขึ้นภายหลังจากการทำงานเนื่องจากมีการสะสมเป็นระยะเวลานาน เช่น โรคนิวป์โมโคนิโอสิส โรคจากแร่ใยหินแอสเบสตอสที่มีระยะการก่อโรค ตั้งแต่เริ่มสัมผัสจนมีอาการและอาการแสดง ซึ่งใช้เวลาสะสมนานกว่า 10 ปีขึ้นไป และเมื่อเป็นแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

2. โรคเกี่ยวเนื่องจากการประกอบอาชีพ
โรคที่เกี่ยวเนื่องจากการประกอบอาชีพ คือ ลักษณะของการทำงานเป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้โรคที่มีอยู่เดิมแสดงอาการออกมา กำเริบ หรือมีอาการแย่ลงกว่าเดิม เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่จะมีอาการโรคเส้นเอ็นอันเสบได้ง่าย ผู้ที่มีโครงสร้างผิดปกติ เมื่อต้องทำงานที่อาจมีเหตุปัจจัยไปกระตุ้น เช่น ทำงานในลักษณะท่าเดิม ๆ ท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือการทำงานที่มีการออกแรงซ้ำ ๆ ก็จะอาจส่งผลให้อาการของโรคที่มีอยู่กำเริบและแสดงออกมา หรืออาจทำให้เจ็บป่วยหนักมากขึ้นกว่าเดิมได้

8 ชนิดโรคจากการทำงาน
กองทุนเงินทดแทนได้มีการกำหนดชนิดของโรค และแบ่งออกเป็นข้อย่อย ๆ ด้วยกัน เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยมีดังต่อไปนี้
- โรคที่เกิดจากสารเคมี
- โรคที่เกิดจากสาเหตุทางกายภาพ
- โรคที่เกิดจากสาเหตุทางชีวภาพ
- โรคระบบหายใจที่เกิดจากการทำงาน
- โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นจากการทำงาน
- โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูก
- โรคมะเร็งที่เกิดจากการทำงาน
- โรคอื่น ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการทำงาน
คลินิกโรคจากการทำงานทำหน้าที่ให้การรักษาโรค และให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ รวมทั้งส่งเสริมงานด้านอาชีวอนามัย และมุ่งเน้นถึงความปลอดภัยในการทำงาน จึงไม่มีการเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างแรงงานและผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ นับเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดอุบัติเหตุจากการทำงานลง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานโดยกองทุนเงินทดแทน

ขั้นตอนการเข้าใช้บริการคลินิกโรคจากการทำงาน
เมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากการทำงาน หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคจากการทำงาน และต้องการเข้ารับบริการคลินิกฯ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน เกิดเจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากการทำงาน ให้ยื่นแบบ กท.16 ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ ที่ตนทำงานอยู่
- เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่เลือกไว้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
- หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน จะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อที่คลินิกโรคจากการทำงาน
- กรณีที่ตรวจพบว่าลูกจ้างประสบเหตุอันตรายจากการทำงานโดยเจ้าตัวไม่ได้เป็นผู้แจ้ง หรือเข้าตรวจรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่มีคลินิกโรคจากการทำงาน ให้นายจ้างยื่นแบบ กท.16 ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ภายใน 15 วัน และจะต้องยื่นแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือแบบ กท.44 ให้กับโรงพยาบาลที่ลูกจ้างเข้ารับการรักษา เพื่อให้โรงพยาบาลนั้น ๆ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกับกองทุนเงินทดแทนโดยตรง

สำหรับใครที่ต้องการตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลที่มี คลินิกโรคจากการทำงาน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง หรือ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วนประกันสังคม ที่หมายเลข 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง