Close
Thailand and the world with daily News updates including news, articles.
About       Advertising       Contact

ข้อควรรู้เรื่องหน้ากากอนามัย

ตอนที่โควิดถือกำเนิดขึ้นมาและอาละวาดจนปั่นป่วนไปทั่วโลกในครั้งแรก ในขณะที่หลายๆประเทศให้ความสำคัญกับการใส่หน้ากากอนามัยน้อยมาก แต่เทศไทยเรากระตือรือร้นและแย่งหาซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จนขาดตลาด

Highlights

  • สวมหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพ 56.1%
  • สวมหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพ 51.4%
  • สวมหน้ากากอนามัย + หน้ากากผ้า มีประสิทธิภาพ 85.4%
  • สวมหน้ากากอนามัยแล้วผูกสายคล้องให้เป็นปม มีประสิทธิภาพ 77%
  • สวมหน้ากากอนามัยที่ผูกสายคล้องเป็นปม+หน้ากากผ้า ประสิทธิภาพ 96.5%

“ใส่หน้ากากเข้าหากันเถอะนะ” นี่คือคำขอร้องที่คนไทยหลายๆคนตอนนี้วิงวอน!!

ตอนที่โควิดถือกำเนิดขึ้นมาและอาละวาดจนปั่นป่วนไปทั่วโลกในครั้งแรก ในขณะที่หลายๆประเทศให้ความสำคัญกับการใส่หน้ากากอนามัยน้อยมาก แต่เทศไทยเรากระตือรือร้นและแย่งหาซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จนขาดตลาด

นอกจากจะหาซื้อยากแล้ว ราคาหน้ากากอนามัยหรือแมสยังสูงลิ่วจนแทบจะซื้อกันไม่ไหว สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยกันทั่ว เพราะพ่อค้าแม่ขายพากันกักตุนหน้ากากและฉวยโอกาสเพิ่มราคาหน้ากากไปอีกหลายเท่าที่ปกติกล่องละไม่ถึงร้อย 

ทำให้นึกไปถึงก่อนโควิดจะเข้าเมืองไทย เราก็เจอกับวิกฤตฝุ่น pm2.5  หน้ากากอนามัย3M หรือหน้ากาก3D กันฝุ่นทั้งหลายจากชิ้นละไม่กี่สิบ ก็แล่นสูงไปถึงหลักร้อยต่อชิ้น พอจะหันไปพึ่งหน้ากากกระดาษหรือหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปที่เป็น Non-Medical  โควิดก็เข้ามาไทยโดยมิได้มีใครอันเชิญใดๆ แล้วถีบราคาหน้ากากทุกชนิดไต่ราวขึ้นไปจนแหงนคอมองแบบกลืนน้ำลาย แพง…จนสอยไม่ค่อยลงกันเลยทีเดียว

เมื่อหน้ากากอนามัยแบบ Medical mask หรือ Surgical mask ที่เป็นหน้ากากสำหรับแพทย์ แม้แต่แบบหน้ากากอนามัยชนิด Non Medical mask ก็เป็นที่ต้องการใช้พร้อมกันทั่วประเทศเช่นนี้ โรงงานหน้ากากอนามัยเองก็ผลิตออกมาไม่ทัน แมสทางการแพทย์นำเข้าจากจีนก็ถูกระงับเพราะต้องไว้ใช้ในประเทศของเขาเองเช่นกัน และเมื่อหน้ากากไม่เพียงพอต่อผู้อุปโภค ทำให้มีหน้ากากปลอมผลิตออกมาอาละวาดแข่งกับโควิด-19

Fake or Real !! หน้ากากอนามัยปลอมหรือแท้ ดูอย่างไร

  1. แหล่งที่ซื้อว่าซื้อจากที่ไหน หากเป็นตามร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ร้านขายเครื่องมือก่อสร้าง ที่มีเลขจดแจ้งอย่างถูกต้องก็มักจะไม่มีปัญหา
  • กลิ่นหน้ากากอนามัยแท้ต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติใดๆทั้งสิ้น
  • รอยตะเข็บหน้ากากต้องเรียบร้อย มีการตัดเย็บเรียบเสมอกัน ไม่ขาดรุ่นร่าย
  • เลเยอร์หรือจำนวนชั้นของหน้ากากอนามัย3ชั้น เป็นมาตรฐานของหน้ากากอนามัยคุณภาพ ถ้าจับแล้วบางๆรู้สึกว่ามีแค่1-2ชั้น หรืออาจนำมาส่องผ่านมือแล้วเห็นเงามือได้ชัด นั่นคือหน้ากากที่ไร้คุณภาพ แต่ถ้าไม่แน่ใจก็สามารถตัดออกดูว่ามี 3 ชั้นและมีแผ่นกรองหรือไม่
  • ถูๆบนหน้ากากแล้วมีฝุ่นฟุ้งหรือเส้นใยติดมือขึ้นมา อาจต้องทำใจว่าเป็นหน้ากากปลอม หรืออาจเป็นหน้ากากที่ใช้แล้วและถูกนำไปซักก่อนจะนำมาขายใหม่ ถ้าเป็นแบบนั้นก็โยนทิ้งไปเลยดีกว่า อย่าเสียดาย เพราะไม่คุ้มกับสุขภาพของเรา

หน้ากากแท้ก็แพงแถมยังต้องเสี่ยงกับหน้ากากปลอมอีก จึงมีคนเกิดไอเดียและออกมาส่งเสริมการใช้หน้ากากผ้าแทนซะเลย แต่เมื่อรัฐบาลออกมารณรงค์ให้ประชาชนใช้แบบหน้ากากผ้า เพื่อเว้นหน้ากากทางการแพทย์เก็บไว้ให้บุคลากรทางแพทย์ได้ใช้ เนื่องจากหน้ากากอนามัยฯเริ่มขาดแคลน และโรงงานหน้ากากอนามัยก็ผลิตออกมาจำหน่ายไม่ทัน ส่วนในท้องตลาดก็ราคาแพงจนประชาชนซื้อไม่ไหว แมสผ้าจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์

แต่แล้วก็ตามระเบียบ…แมสผ้าปิดจมูกขึ้นราคาตามพี่ๆแมสปิดจมูกทั้งหลายไปติดๆ จึงมีคนออกมาสอนวิธีทำแมสผ้ามัสลินใช้เองหลากรูปแบบตามช่องทางโชเซียลต่างๆ เป็นการเซฟตัวเองให้ปลอดภัยในวิกฤติที่ทุกคนควรจะร่วมมือกันมากที่สุด แต่กลับต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดแทน

หลายคนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือใส่หน้ากาก  ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้า หน้ากากคาร์บอน แมสเกาหลี แมสดำ หน้ากากpittaสีดำบางๆ หรือจะหน้ากากN95กันฝุ่นก็ตาม เพราะโควิด-19เป็นโรคที่คนไม่เคยรู้จัก จะว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่หรือไม่ เราก็ไม่กล้ายืนยัน แต่ยังไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อนหน้านี้ แม้แต่ทางการแพทย์และเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยพบเจอ หนทางการรักษาจึงไม่เคยได้เตรียมไว้ ยาหรือวัคซีนป้องกันยังไม่มี ทุกคนจึงวางใจไม่ได้ว่าจะร้ายแรงแค่ไหน แต่เชื่อว่าไม่มีใครอยากจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้แพร่เชื้อเองก็ตาม

เพราะก่อนที่เชื้อร้ายนี้จะเล็ดลอดเข้าสู่ไทยได้นั้น เราได้ข่าวและเห็นตามสื่อต่างๆมาแล้วว่า ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่โควิดถือกำเนิดขึ้นมานั้น มีความโกลาหลและวุ่นวายแค่ไหน สร้างความตระหนกและหวาดกลัวให้กับคนไทยไม่น้อย แต่ถ้ามองกลับกัน ความกลัว อาจเป็นสิ่งดี ที่จะทำให้เกิดความระวังและไม่ประมาท ถ้าไม่กลัวมากจนเกินไป

หน้ากากขาดตลาดในรอบแรก จนเราต้องหันมาทำหน้ากากผ้ากันเองเพื่อใส่ในแต่ละวัน จนทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ แมสทุกชนิดและหน้ากากอนามัยราคาเริ่มลดลงจนเข้าถึงได้ง่าย แต่…คนไทยเริ่มไม่ง้อ เพราะหน้ากากผ้าสามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องเปลืองกับการซื้อใหม่บ่อยๆ และการระบาดของโรคก็เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ จนบางคนก็เริ่มหย่อนและคลายความระวังตัว ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง และเมื่อหน้ากากกระดาษหรือแมสทางการแพทย์เริ่มไม่จำเป็นสำหรับบางคน แม่ค้าพ่อขายที่กักตุนไว้ก็แทบจะกระอักเลือด จากที่เคยขายหน้ากากอนามัย50ชิ้นราคา 300 -1,000 บาท ต้องเทขายกล่องละไม่กี่สิบบาท

ความประมาททำให้โควิดกลับมาระบาดรอบ2 

แต่รอบนี้ทุกคนสามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้กันอย่างทั่วถึง หลังจากทุกภาคส่วนของรัฐบาลเริ่มเข้ามาจริงจังกับการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยและแมสทุกชนิด รวมไปถึงการเร่งงานผลิตของโรงงานแมสปิดปากตั้งแต่การระบาดระลอกแรก พอมารอบนี้จึงมีหน้ากากอนามัยเพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ปิดหนทางการโก่งราคาแมส

จนกระทั่ง…การระบาดรอบ3!!  

ที่มียอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าทุกๆรอบแบบก้าวกระโดด จากหลักสิบสู่หลักพันและยังไม่มีทีท่าจะลดจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวัน มีแต่จะเพิ่มขึ้นในทุกวันและมากกว่าการระบาดทั้ง 2 รอบที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว  และรอบนี้ทางรัฐบาลได้มีการบังคับสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน หากพบใครฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือแมสผ้าในที่สาธารณะจะมีโทษปรับ 6,000 – 20,000 บาท และดูเหมือนว่ารอบนี้รัฐบาลจะมีมาตรการที่จริงจังเห็นได้จากการที่มีการเทียบปรับนายกรัฐมนตรีประเดิมเป็นรายแรกในวันที่ 26 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา จนกลายเป็น top of the town

ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้เพื่อทำให้เห็นถึงความสำคัญในการสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านของประชาชนมากขึ้น และเมื่อล่าสุด นายแพทย์ศิริอนันต์ ประสิทธิ์ แพทย์ชำนาญการพิเศษโรงพยาบาลยะลา เชิญชวนคนไทยหันมาสวมหน้ากาก 2 ชั้น เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งการสวมหน้ากาก 2 ชั้น ก็มีการทดลองในการวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร MMWR  เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา จากการทดลองพบว่า

  • สวมหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพ 56.1%
  • สวมหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพ 51.4%
  • สวมหน้ากากอนามัย + หน้ากากผ้า มีประสิทธิภาพ  85.4%
  • สวมหน้ากากอนามัยแล้วผูกสายคล้องให้เป็นปม มีประสิทธิภาพ 77%
  • สวมหน้ากากอนามัยที่ผูกสายคล้องเป็นปม+หน้ากากผ้า ประสิทธิภาพ 96.5%

จะเห็นได้ว่าการสวมหน้ากากอนามัยหรือแมสชั้นเดียวจะให้ประสิทธิภาพที่ 56.1% ในขณะที่การสวมหน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัยและผูกให้เป็นปมเพื่อให้กระชับใบหน้าจะช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงมากกว่า 95% เลยทีเดียว

Double Mask wearing

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันโควิดได้มากกว่าหน้ากากชั้นเดียว โดยการใส่ชั้นแรกด้วยหน้ากากอนามัย แล้วทับด้วยหน้ากากผ้าเป็นชั้นที่สองเพื่อลดช่องว่างของหน้ากากอนามัย

DO 

  • การใส่หน้ากาก 2 ชั้นนั้น ให้ใส่ชั้นที่ 1 ด้วยหน้ากากอนามัยที่มีลวดสำหรับกดให้แนบกับจมูก และชั้นที่ 2 ใส่หน้ากากผ้าทับเพื่อลดช่องว่างของหน้ากากอนามัยที่อาจครอบหน้าไม่สนิท
  • สวมหน้ากากอนามัยคลุมทั้งจมูกและปากให้กระชับ กดลวดให้กระชับกับจมูก
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสวมและหลังถอดหน้ากากอนามัย

DONT 

  • ไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยด้วยกันทั้ง 2 ชั้น  เพราะยังคงมีช่องว่างให้อากาศหรือละอองฝอยเล็ดลอดเข้าไปได้ จึงไม่เกิดประโยชน์หากจะสวมทับทั้งสองชั้น
  • ไม่ควรใส่หน้ากากผ้าทั้ง 2 ชั้น เพราะหน้ากากผ้าไม่มีโครงลวดที่บีบเข้ากับจมูกจึงไม่แนบกระชับเข้ากับใบหน้า และหน้ากากผ้าอาจหลวมไม่พอดีกับใบหน้าทำให้เลื่อนลงได้เมื่อเวลาพูด
  • ไม่ควรเลื่อนหน้ากากลงมาอยู่ใต้คางเวลาพูด ถึงแม้จะพูดไม่ถนัดหรือฝ่ายตรงข้ามจะไม่ได้ยินก็ตาม เพราะนั่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้ละอองฝอยน้ำลายแพร่กระจายต่อกันได้
  • พยายามอย่าแตะหรือไปจับด้านนอกหน้ากาก หรือล้างมือทุกครั้งที่มือไปสัมผัสโดนด้านหน้าของหน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้ไหม  บางคนก็บอกหากไม่เปื้อนอะไรมากก็นำกลับมาใช้ได้ แต่คุณหมอหลายๆท่านออกมาแนะนำแล้วว่า ไม่ควรนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำเพื่อสุขลักษณะที่ดีต่อสุขภาพ เพราะหน้ากากอนามัยส่วนใหญ่ผลิตมาแบบใช้แล้วทิ้ง โดยเฉพาะในสถาณการณ์ที่มีโควิดระบาดแบบนี้ ยิ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะแค่ความชื้นจากเหงื่อก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพของหน้ากากลดลง และเมื่อเรานำกลับมาใช้ซ้ำ หน้ากากไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อโรค

ใส่แมสปากเหม็น…ทำอย่างไรดี 

เมื่อใส่หน้ากากอนามัยทั้งวัน ปัญหาหนึ่งที่หลายคนๆได้ประสบพบเจอ หนีไปไหนก็ไม่รอด คือ “กลิ่นปาก” ยิ่งหลังมื้ออาหารก็ยิ่งทวีคูณ ยิ่งถ้าใครมีปัญหาเรื่องระบบลำไส้อยู่แล้ว…แทบจะเป็นลมกันเลย เราจึงมีวิธีช่วยดับกลิ่นปากมาฝาก

9 วิธีดับกลิ่นปากเมื่อต้องใส่หน้ากากอนามัย

  1. ทำความสะอาดช่องปากก่อนใส่หน้ากากอนามัยทุกชนิด ด้วยการแปรงฟันและลิ้นให้สะอาด และอาจใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยเพื่อขจัดเศษอาหารตามซอกฟัน ป้องกันการเกิดการหมักหมมจนเป็นสาเหตุของกลิ่น
  2. ใช้สเปรย์ดับกลิ่นปากหรือบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก หากไม่สะดวกในการแปรงฟัน
  3. หลีกเลี่ยงอาหารกลิ่นแรงที่อาจจะค้างอยู่ในช่องปากเราได้นานหลายชั่วโมง เช่น สะตอ หัวหอม กระเทียม ชะอม เป็นต้น
  4. ดื่มน้ำเยอะๆ เพราะจะทำให้มีน้ำลายที่ช่วยขจัดเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีกลิ่นปากมารบกวนใจ
  5. ใช้น้ำเกลือบ้วนปาก ด้วยการผสมเกลือ1ช้อนชาในน้ำ1แก้ว แล้วบ้วนปากหลังแปรงฟันเช้า-เย็น  เพราะเกลือจะช่วยลดแบคทีเรียในช่องปากได้
  6. งดสูบบุหรี่ เพราะกลิ่นบุหรี่สามารถติดในช่องปากได้นาน ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
  7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะทำให้ลมหายใจมีกลิ่นไม่ต่างจากบุหรี่
  8. ตรวจสุขภาพช่องปากทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสอบว่ามีฟันผุ ฟันคุด หรือร่องเหงือกมีปัญหาตรงไหนที่อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก
  9. เปลี่ยนแปรงสีฟันทุกๆ 3 เดือน เพราะแปรงสีฟันที่ใช้ไปนานๆจะเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย

ใส่แมสแล้วแว่นเป็นฝ้า

สำหรับผู้ที่สวมแว่นมักจะมีปัญหาแว่นเป็นฝ้าเมื่อสวมแมสหรือหน้ากากทุกครั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคในการมองเห็นและในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากสำหรับผู้สวมแว่น มีวิธีที่ชาวญี่ปุ่นแนะนำไว้มาฝากกัน

  • แมสอนามัยทางการแพทย์ ให้พับขอบหน้ากากที่มีลวดอยู่ด้านบนลงมาเล็กน้อยแล้วจึงทำการสวมใส่ จะทำให้เมื่อเวลาหายใจจะไม่เกิดฝ้าจับที่เลนส์แว่นตา
  • สำหรับแมสN95 ที่เป็นแมสกันฝุ่น PM2.5 จะเป็นทรงกระบอกทำให้พับไม่ได้ จึงต้องใช้กระดาษทิชชู่ช่วย ด้วยการพับทบกระดาษทิชชู่ลงเป็นทางยาวขนานกับขนาดของแมส แล้วทาบลงในแมสด้านบนที่มีลวดดัดให้แนบสนิทแล้วจึงสวม วิธีนี้จะช่วยลดการเกิดฝ้าได้

สวมเฟซชิลด์ แทนหน้ากากอนามัยได้ไหม   Face Shield หรือ เฟซชิลด์ ไม่สามารถแทนหน้ากากอนามัยได้ ถึงแม้เฟซชิวด์จะคลุมทั้งใบหน้า แต่ก็ไม่สนิทแนบกับใบหน้า ทำให้ผู้สวมสามารถหายใจเอาละอองสารคัดหลั่งเข้าไปได้ หรือ แม้แต่หากผู้สวมไอจามในส่วนของละอองฝอยน้ำลายก็สามารถลอดผ่านไปแพร่เชื้อแก่ผู้อื่นได้เช่นกัน แต่เฟซชิวด์ก็ใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับแพทย์ในโรงพยาบาล หรือผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดผู้อื่นหรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยได้ โดยการสวมหน้ากากอนามัยแล้วสวมเฟซชิวด์ทับคลุมหน้าเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

วิ่งใส่หน้ากากอนามัย มีผลเสียหรือไม่ 

การวิ่งยังคงเป็นกิจกรรมที่คนรักสุขภาพให้ความสำคัญ แต่ช่วงที่โควิดระบาด การจะใส่แมสวิ่งเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่นั้น แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ไม่ควรสวมหน้ากากขณะวิ่ง เพราะขณะที่วิ่งร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้นและอัตราการเต้นหัวใจก็เร็วขึ้นกว่าปกติ 5-10 ครั้ง / นาที ทำให้เสี่ยงต่อการที่ร่างกายขาดออกซิเจนกระทันหันได้ เพราะกระดาษหรือผ้าจะขัดขวางการหายใจไม่คล่องตัว ทำให้หายใจไม่ทัน แต่ให้เว้นระยะห่างการวิ่งแทน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่า ไม่ควรใส่หน้ากากวิ่งเพราะจะเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหน้ากากมากขึ้นและทำให้หายใจนำคาร์บอนฯกลับเข้าสู่ร่างกาย เป็นสาเหตุให้เหนื่อยง่าย อีกทั้งยังมีผลต่อระบบปอดและหัวใจทำงานหนักมากขึ้น

แมสมีกี่แบบ

ชนิดหน้ากากมีหลายแบบด้วยกัน โดยแต่ละชนิดก็จะมีประสิทธิภาพต่างกันไปเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน เช่น หน้ากากใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หน้ากากสำหรับโรงพยาบาล หน้ากากเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง และอื่นๆ ซึ่งเรามักจะเห็นกันบ่อยๆหรือที่มีจำหน่ายส่วนใหญ่ก็จะมีด้วยกัน 6 ชนิด ดังนี้

  1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือบางคนก็เรียกแมสหมอ เป็นแมสเกรดโรงพยาบาล ผลิตจากผ้าหรือพอลิโพรไพลีนที่เป็นพลาสติก แต่คุณภาพความปลอดภัยสูงต่อผู้ใช้ โดยจะต้องมีไส้กรองแมส 3 ชั้นเพื่อดูดซับของเหลวหรือสารคัดหลั่งจากผู้สวมไม่ให้กระจายสู่ภายนอกและแพร่เชื้อต่อผู้อื่น โดยการสวมใส่ให้ด้านสีเข้มไว้ด้านนอกและสีอ่อนกว่าอยู่ด้านในติดกับใบหน้าผู้สวม
  2. หน้ากากอนามัยแบบผ้า มีทั้งแบบหน้ากากผ้าฝ้าย หน้ากากผ้าลินิน หน้ากากผ้าสาลู ใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ และยังช่วยป้องกันการกระจายของน้ำมูกและน้ำลายได้ แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากๆได้ ในปัจจุบันจะมีหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำที่สามารถซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ช่วยประหยัดในการซื้อบ่อยๆได้ดี
  3. หน้ากากอนามัยเกาหลี หรือ แมสฟองน้ำ ผลิตจากโพลียูรีเทนคาร์บอนสำหรับกรองอากาศโดยเฉพาะ ช่วยป้องกันฝุ่นละอองและเกสรดอกไม้ เป็นแมสแบบใช้ซ้ำและซักได้บ่อยครั้ง แห้งไวและพับเก็บได้ง่ายโดยไม่ยับ
  4. หน้ากากอนามัยคาร์บอน4ชั้น  หรือหน้ากากอนามัยสีดำ มีคุณสมบัติไม่ต่างจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มากนัก และยังมีความพิเศษตรงที่มีชั้นคาร์บอนที่ช่วยกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย มีความหนาเส้นใยสังเคราะห์ 4ชั้น กรองเชื้อแบคทีเรียได้ 95% และฝุ่นขนาด 3 ไมครอนได้ถึง 66.7%
  5. หน้ากากอนามัยN95  ผลิตจากโพลีโพรพีลีน มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็ก pm2.5 ไม่น้อยกว่า 95% มีประสิทธิภาพสูงกว่าหน้ากากทุกชนิด
  6. หน้ากากอนามัย FFP1 ถูกออกแบบให้มีความเว้าด้านบนและครอบลงไปยังบริเวณจมูกกับปากได้อย่างมิดชิด มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยN95 แต่จะสามารถป้องกันสารเคมี สารโลหะ ได้ด้วย

หน้ากากอนามัยยี่ห้อไหนดีที่สุด 

ในข้อนี้จะกล่าวถึงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์หรือหน้ากากกระดาษ โดยก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 เรามักจะเห็นหมอหรือบุคลากรในโรงพยาบาลใส่หน้ากากสีเขียวหรือแมสสีขาว โดยที่อาจไม่เคยรู้ยี่ห้อเลยถ้าไม่ใช่ผู้ที่ต้องใช้หรือซื้อหน้ากากอนามัยประจำอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเมื่อมีการต้องหาซื้อหน้ากากอนามัยกันทุกครัวเรือน เชื่อว่าทำให้หลายๆคนได้รู้จักยี่ห้อหรือคุ้นตาผ่านๆกันบ้าง ส่วนยี่ห้อไหนดีที่สุดต้องดูที่ว่าเป็นหน้ากากแบบไหน และใครใช้แล้วไม่แพ้ เพราะบางคนแพ้ยี่ห้อนี้แต่ไม่แพ้กับยี่ห้ออื่น หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น

1.หน้ากากสำหรับแพทย์  Medical mask หรือ Surgical mask

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้ในโรงพยาบาลและในห้องผ่าตัด หรือผู้ที่ต้องใกล้ชิดคนป่วย เพราะจะมีแผ่นกรอง 3 ชั้น โดยด้านในหน้ากากจะทำหน้าที่ดูดซับน้ำลายและสารคัดหลั่งจากหมอผู้สวมใส่ไม่ให้แพร่กระจายแก่คนไข้ ส่วนผิวด้านนอกหน้ากากจะทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจจากคนผู้ป่วยสู่ผู้สวม

ยี่ห้อที่ระบุว่าสำหรับทางการแพทย์หรือหน้ากากอนามัยเกรดโรงพยาบาล

  • หน้ากากอนามัย dura
  • หน้ากากอนามัย GQ
  • หน้ากากอนามัย welcare
  • หน้ากากอนามัย nexcare
  • หน้ากากอนามัย biosafe
  • หน้ากากอนามัย medimask 
  • หน้ากากอนามัย KF
  • แมส next health

ช่วงนี้หน้ากากทางการแพทย์ราคาไม่ได้แพงเหมือนอย่างตอนระบาดในระลอกแรก และยังหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไป

2.หน้ากากอนามัยกระดาษทั่วไป Non Medical

จะมีรูปลักษณ์เหมือนกับหน้ากากทางการแพทย์แบบ Medical mask หรือ Surgical mask แต่ประสิทธิภาพจะน้อยกว่า แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ได้เจ็บป่วย และเดินทางไปในสถานที่โล่ง คนไม่แออัด สามารถเลือกใช้หน้ากากประเภทนี้ได้ แต่ถ้าไปยังแหล่งชุมชนหรือสถานที่มีความเสี่ยง อาจต้องสวมทับด้วยหน้ากากผ้าอีกชั้น

ส่วนที่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นหน้ากากทั่วไปหรือหน้ากากสำหรับการแพทย์จะมีหลายยี่ห้อด้วยกัน ซึ่งต้องสังเกตหรือดูให้ดีเมื่อจะทำการซื้อ ได้แก่

  • หน้ากากอนามัย unicharm
  • หน้ากากอนามัย yamada
  • หน้ากากอนามัย  biken
  • หน้ากากอนามัย disposable
  • หน้ากากอนามัย mybacin
  • หน้ากาก kingkong
  • หน้ากากอนามัย Double A

อีกหลายยี่ห้อที่หลายๆบริษัทและโรงงานผลิตหน้ากากออกมาเพื่อวางจำหน่าย เมื่อจะทำการซื้อก็ต้องสังเกตและหาข้อมูลให้ดีหากไม่อยากผิดหวัง แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นหน้ากากชนิดไหนที่หาซื้อได้ในขณะนี้ มีทั้งหน้ากากอนามัยเปลี่ยนไส้กรอง หน้ากากผ้ากันน้ำ  หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง หน้ากากอนามัยเด็ก หน้ากากอนามัยผ้านาโน หน้ากากลายการ์ตูน ก็สามารถเลือกใช้ได้แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี

หน้ากากที่มีวาล์วใช้กันโควิดได้ไหม หน้ากากที่มีวาล์วหายใจจะช่วยในเรื่องการดักกรองฝุ่นจึงเหมาะกับการใส่เพื่อป้องกันฝุ่น แต่ไม่เหมาะกับการใส่เพื่อกันโควิด-19 เพราะช่องระบายอากาศตรงวาล์วจะเป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อโรคเข้าได้

ใส่แมสถูกวิธี หลีกหนีโควิด ระบาดมาถึงรอบ 3 แล้ว คิดว่าทุกคนใส่หน้ากากกันเป็นแล้วแต่ก็ยังมีบางคนใส่เป็นแต่ไม่ถูกขั้นตอนหรือไม่ถูกวิธี ใส่หน้ากากอนามัยด้านไหนก็ยังสลับกันอยู่ การใส่หน้ากากไม่ได้ยากแต่วิธีใส่ที่ถูกต้องเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า มีดังนี้

วิธีสวมหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19

  1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่แมส
  2. จับที่สายรัดหรือคล้องหู นำด้านสีเข้มออกด้านนอก ให้ด้านสีอ่อนอยู่ด้านในฝั่งสัมผัสหน้า และโครงลวดอยู่ด้านบน
  3. ดึงสายคล้องหูให้แมสกระชับกับใบหน้ามากที่สุด
  4. ดัดโครงลวดตรงจมูกให้แนบกับจมูก
  5. คลี่รอยพับหน้ากากและดึงลงไปปิดใต้คางให้ครอบคลุมใบหน้าให้มากที่สุด

แมสสีดําเอาด้านไหนออก ถ้าเป็นแมสดำแบบ 2 สี

ให้หันสีเข้มออกด้านนอกและสีที่อ่อนกว่าไว้ข้างในสัมผัสหน้าเรา แต่ถ้าเป็นแมสดำแบบสีเดียวทั้งสองด้าน ให้สังเกตสัญลักษณ์ยี่ห้อ เพราะส่วนใหญ่โรงงานจะพิมพ์ชื่อยี่ห้อไว้ด้านนอกอาจจะมุมบนซ้ายหรือมุมบนขวา แต่ถ้าไม่มียี่ห้อหรือสัญลักษณ์ใดๆเลย ให้ใช้มือสัมผัสหรือลูบๆดู ด้านที่อ่อนนุ่มกว่าจะเป็นด้านที่สัมผัสกับใบหน้า

How to ทิ้ง!!  วิธีทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว

  1. ล้างมือให้สะอาด
  2. จับสายรัดที่สวมหูทั้งของข้างแล้วดึงหน้ากากออกจากใบหน้า
  3. ใช้กรรไกรตัดให้พอเป็นรอยตำหนิเพื่อป้องกันคนเก็บนำไปขายใหม่
  4. ใช้มือทั้งสองข้างค่อยๆม้วนหน้ากากเข้าหากันโดยให้ด้านในที่สัมผัสหน้าของเราอยู่ด้านนอกและให้ด้านนอกม้วนกลับเข้าไปอยู่ด้านในแทน โดยพยายามอย่าให้มือสัมผัสกับบริเวณด้านนอก
  5. ใช้สายรัดที่คล้องหูทั้งสองรัดมัดให้แน่น
  6. ใส่ลงถุงขยะโดยแยกจากขยะทั่วไปแล้วมัดปากถุงให้แน่น เขียนระบุว่าเป็นขยะติดเชื้อ คนเก็บขยะจะได้แยกประเภทเพื่อป้องกันความเสี่ยงการกระจายโรค
  7. ล้างมือให้สะอาด

การใส่ / ถอด / ทิ้ง แมสหรือหน้ากากให้ถูกวิธีเป็นการป้องกันให้ห่างไกลจากโควิด-19 แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการล้างมือบ่อยๆ พกแฮลกอฮอล์สเปรย์หรือเจลล้างมือเมื่อออกนอกบ้านเสมอ เพื่อไว้ล้างมือทุกครั้งที่จับสิ่งของหรือเข้าห้องน้ำร่วมสาธารณะ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหากมีความผิดปกติกับร่างกายโดยไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร ให้กักบริเวณตัวเองเพื่อสังเกตอาการและติดต่อกับทางบุคลากรที่เกี่ยวข้องหรือโรงพยาบาลเพื่อทำการปรึกษาและได้รับการรักษาท่วงทันหากเกิดการติดเชื้อ และที่สำคัญ…อย่าปิดบังข้อมูลกับเจ้าหน้าที่

scroll to top