Close
Thailand and the world with daily News updates including news, articles.
About       Advertising       Contact

ต้องมีเงินเท่าไรหากคิดจะซื้อบ้าน ปี 2566 

คนส่วนใหญ่เมื่อคิดจะซื้อบ้าน สิ่งที่จะคิดถึงอันดับแรก ๆ คือ รูปแบบบ้านที่ชอบ ทำเลที่ตั้ง และราคาบ้านเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การซื้อบ้านสักหลังนั้น จะต้องคิดครอบคลุมไปถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่ก่อนเริ่มซื้อไปจนถึงระยะเวลาในการผ่อนบ้านจนครบแบบปิดจ๊อบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านหลังใหม่หรือซื้อบ้านมือสอง สำหรับคนซื้อบ้านต้องเตรียมค่าใช้จ่ายให้พร้อม เพราะเป็นสิ่งจำเป็นมากหากไม่ต้องการให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา รวมไปถึงการที่บ้านโดนยึด!

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงเพื่อเตรียมค่าใช้จ่าย มีดังต่อไปนี้ 

เงินดาวน์ 

ควรเตรียมไว้ประมาณ 10-20 % สำหรับการวางเงินดาวน์บ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือกรณีบ้านหลังที่สองหรือหลังที่สาม หลังจากมาตรการผ่อนผัน LTV ของนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้สิ้นสุดเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยสามารถกู้เงินได้ 100% สำหรับบ้านหลังแรก 

ค่าจดจำนอง 

ค่าจดจำนองเป็นอีกค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อบ้านจะต้องจ่าย เนื่องจากจำนวน 99% ของผู้ซื้อบ้าน เลือกที่จะจ่ายด้วยวิธีการขอกู้สินเชื่อ เพราะส่วนมากจะเป็นมนุษย์เงินเดือน และบางส่วนก็ต้องการผ่อนกับธนาคารเพื่อเก็บเงินทุนไว้ใช้หมุนเวียนในกิจการ ในขณะที่ 1% ที่เหลือจึงจะเป็นการซื้อบ้านด้วยเงินสด ทำให้เป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งค่าจดจำนองตามอัตราปกติ จะคิดอยู่ที่ 1% ของยอดเงินกู้ทั้งหมด โดยยอดสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท เช่น ซื้อบ้านราคาหลังละ 1,000,000 บาท กู้ยอดเต็มจำนวน จะต้องเสียค่าจดจำนอง 1,000,000 x 1% = 10,000 บาท  

ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ 

ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์นี้จะขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ว่ามีเงื่อนไขในการแบ่งจ่ายกันอย่างไร โดยค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ตามอัตราปกติจะอยู่ที่ 2% ของราคาประเมินที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง 

เช่น ซื้อบ้านราคา 2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ คิดเป็น 2,000,000 x 2% = 40,000 บาท  ดังนั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมฯ 40,000 บาท หรือซื้อบ้าน 15,000,000 คิดเป็น 15,000,000 x 2% = 300,000 บาท เป็นต้น 

แต่มีมาตรการใหม่ รัฐบาลลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนฯ 1% สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท เช่น ซื้อบ้านราคา 2,000,000 บาท คิดเป็น 2,000,000 x 1% = ค่าโอน 20,000 บาท หรือ บ้านราคา 3,000,000 x 1% = ค่าโอนฯ 30,000 บาท เป็นต้น

ค่าประกันสินเชื่อและประกันวินาศภัย 

สำหรับการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับทางธนาคาร โดยปกติแล้วลูกค้าจะต้องทำประกันสินเชื่อ หรือ ประกันชีวิตด้วย เผื่อในกรณีผู้กู้เสียชีวิต จะได้มีวงเงินจากบริษัทประกันมาผ่อนชำระต่อได้ทันที รวมถึงประกันวินาศภัยเพื่อครอบคลุมภัยที่อาจเกิดกับบ้าน จะได้รับการเยียวยาจากบริษัทประกันภัยในส่วนนี้ด้วย 

ค่าตกแต่งที่อยู่อาศัย 

แม้ว่าในปัจจุบัน มีบ้านพร้อมตกแต่งที่สามารถซื้อและเข้าอยู่ได้เลย แต่มักจะมีราคาค่อนข้างสูงจนอาจสู้ไม่ไหว หรือมีเฟอร์นิเจอร์ไม่ครบ หรือไม่ตอบโจทย์ตามความต้องการ ทำให้ต้องซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่ม หรือต้องการปรับเปลี่ยนการตกแต่งบ้านตามหลักฮวงจุ้ย จนอาจทำให้งบบานปลายได้ ดังนั้นควรเตรียมเงินในส่วนของค่าตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ไว้แต่เนิ่น ๆ จะได้วางแผนการและจัดเตรียมให้อยู่ในงบประมาณที่มี หรือเลือกซื้อบ้านราคารวมค่าตกแต่งไว้แล้วในเรทที่ซื้อไหว และเดี๋ยวนี้มีหลายโครงการที่มักจะมีโปรโมชั่นแถมและแจกเฟอร์นิเจอร์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้

ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 

สำหรับค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีเพิ่มมากน้อยแค่ไหน จะขึ้นอยู่กับว่าเป็นบ้านหลังแรกหรือหลังที่สอง รวมไปถึงราคาประเมินที่ดินปี 2566 – 2569 ของทางกรมธนารักษ์ เพราะถึงแม้ว่ากระทรวงการคลังจะลดภาษีที่ดินลง 15% ในปี 2566 แต่อาจอยู่ในราคาเท่าเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ หากพิจารณาจากราคาประเมินที่ดินใหม่ที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ ดังนั้นจะต้องคำนึงและเตรียมเงินในส่วนนี้เอาไว้ด้วย  

scroll to top