Close
Thailand and the world with daily News updates including news, articles.
About       Advertising       Contact

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นถูกวิธี ช่วยชีวิตจากโรควูบ (Syncope)

Senior man is falling because hypertension because hypertension

มีจำนวนคนไม่น้อยเลยที่ต้องสูญเสียจากอุบัติเหตุ หรือจากโรคประจำตัว แต่ก็มีจำนวนคนไม่น้อยเช่นกัน ที่รอดปลอดภัยและลดการสูญเสียจากการได้รับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง ก่อนถึงมือแพทย์

ในการแข่งขันกีฬาทุกประเภท สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา ยิ่งถ้าเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม หรือต้องต่อสู้กันเพื่อชิงชัย มีทั้งอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระแทก สะดุดล้ม หรืออาการสโตรก ที่เกิดปฏิกิริยาผิดปกติในร่างกาย จนมีอาการช็อคและอาจเสียชีวิตได้ในขณะทำการแข่งขัน ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในวงการกีฬา อย่างเหตุการณ์ คริสเตียน อีริคเซ่น มิดฟิลด์ของทีมเดนมาร์ก วูบกลางสนามแข่ง ในเกมลูกหนัง ศึกยูโร 2020 ในขณะทำการแข่งขันกับทีมชาติฟินแลนด์ และทีมอาจต้องสูญเสียเขาไปตลอดกาล หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง และการตัดสินใจอย่างรวดเร็วของกัปตันทีมร่วมชาติอย่าง ซิมง เคียร์ ที่เห็นลูกทีมมีอาการชักเกร็ง และรีบเข้าไปทำการช่วยไม่ให้อีริคเซ่นลิ้นจุกปาก และจัดท่าทางให้สามารถหายใจได้ไม่ติดขัด ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก ก่อนที่แพทย์สนามจะปฐมพยาบาลเบื้องต้น first aid และ CPR แล้วส่งตัวอีริคเซ่นไปโรงพยาบาล ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และดำเนินการอย่างถูกวิธี ทำให้เขาไม่ต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทราเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง และวงการลูกหนังก็ไม่ต้องเสีย เพลย์เมกเกอร์ ที่ชื่อ คริสเตียน อีริคเซ่น 

การปฐมพยาบาล คือ การช่วยเหลือพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยกระทันหัน ให้บรรเทาจากอาการรุนแรง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสีย และช่วยชีวิตของผู้ป่วย ก่อนนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทางการแพทย์ในขั้นตอนต่อไป 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือสิ่งสำคัญมาก เพราะจะเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ และช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะถึงแม้ว่านักกีฬาจะมีร่างกายที่แข็งแรงกว่าคนทั่วไป แต่ก็เกิดโศกนาฏกรรมในวงการกีฬามาแล้ว จากอาการวูบคาสนามขณะทำการแข่งขันของนักกีฬา หรือแม้แต่ผู้ตัดสิน อาทิเช่น ผู้ตัดสิน อนันต์ อาบาตสมบัติ เกิดอาการวูบระหว่างทำหน้าที่ จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และวงการลูกหนังก็เคยต้องสูญเสียนักฟุตบอลอาชีพอย่าง แพทริค เอก็อง , มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ , ชีค ติโอเต้ ฯลฯ ด้วยอาการวูบคาสนามมาก่อน 

โรควูบ (Syncope) คือ อาการหมดสติที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เป็นภาวะที่พบได้บ่อย มีตั้งแต่เป็นลมธรรมดา จนถึงความผิดปกติขั้นรุนแรงของสมองหรือหัวใจ และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นขณะขับรถ ข้ามถนน หรือขณะเล่นกีฬา ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้กล่าวว่า อาการวูบดังกล่าวเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน ทำให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆได้ เช่น หัวใจ และสมอง จึงหมดสติไปกะทันหัน และจบด้วยการเสียชีวิต 

และเป็นไปได้ที่การออกกำลังกายอย่างหนัก อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติได้ แต่ก็มีอีกหลายๆปัจจัยที่ส่งผลร่วมด้วย เช่น การขาดความสมดุลของเกลือแร่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีระดับโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ระบบประสาทมีการทำงานที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้มีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ อาจจะเต้นช้าเกินไป จนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ หรือหัวใจเต้นเร็วเกินไป ทำให้ขาดประสิทธิภาพการส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายและวูบได้ รวมไปถึงผู้ที่มีโรคหัวใจอุดตัน เป็นลิ้นหัวใจตีบขั้นรุนแรง ก็นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้

หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันจนทำให้เกิดการเสียชีวิตมักจะเกิดขึ้นในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุสำหรับคนอายุน้อยหรือในหมู่นักกีฬา ที่พบได้มากที่สุดเกิดจากหัวใจผิดปกติโดยกำเนิดเป็นผลมาจากพันธุกรรม มีผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนา คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด การใช้แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดบางชนิด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรควูบได้ตลอดเวลา และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าจะเป็นนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงมากก็ตาม

ดังนั้นทุกสนามฟุตบอลและสนามกีฬา ควรจะมีแพทย์สนามที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ CPR และนักกีฬาควรรู้วิธีการพยาบาลเบื้องต้นเพื่อให้การช่วยเหลือเพื่อนในทีมได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เลือดได้หล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ป้องกันการเกิดอาการช็อคระหว่างส่งตัวไปโรงพยาบาล หรือระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับตัว 

เพราะเมื่อมีคนวูบโดยไม่ทราบสาเหตุ นาทีทองที่จะช่วยเหลือผู้หมดสติจะอยู่ในช่วง 4 นาที หากช้าไปกว่านี้ โอกาสที่จะรอดปลอดภัยลดลงไปนาทีละ 10% ดังนั้นการทำ CPR และวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้องสำคัญมาก เพราะหากทำผิดวิธี สิ่งที่ทำทั้งหมดจะสูญเปล่า มาดูวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับใช้กับผู้ที่หมดสติหรือเป็นลมกันดีกว่า

วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อมีคนวูบหรือหมดสติ 

กรณีที่ผู้ป่วยมีสติ หรือยังรู้สึกตัวอยู่

เมื่อมีคนวูบหมดสติ ทำการตรวจสอบว่าหมดสติหรือไม่ โดยการตะโกนเรียกดังๆ และเขย่าที่ไหล่ หากผู้ป่วยได้ยินหรือรู้สึกตัว อย่าเพิ่งให้ลุกขึ้นนั่งทันที แต่ให้นอนพักต่อราวๆ 10-15 นาที ระหว่างนั้นให้รีบขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และเรียก 1669 เพื่อมารับตัว

กรณีกึ่งหมดสติ

ตรวจสอบภายในช่องปาก มีอะไรอุดตัน กัดลิ้น หรือลิ้นจุกปากอยู่หรือไม่ จากนั้นเชิดคางให้ยกขึ้น เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง จัดท่าทางให้นอนหงายราบ ยกขาให้สูงขึ้น จัดสิ่งแวดล้อมให้อากาศถ่ายเท อย่าให้มีคนมุง ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดใบหน้า คอ แขนและขา 

กรณีผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว

ให้ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างของกึ่งกลางกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ แล้วกดหน้าอกด้วยความลึกประมาณ 5-6 เซนติเมตร แล้วปล่อยขึ้นให้สุด ทำต่อเนื่องด้วยความเร็วที่ 100-120 ครั้ง/นาที โดยไม่ต้องช่วยหายใจ ปั๊มไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีรถมารับตัว หากเหนื่อยก็ให้เปลี่ยนคนปั๊ม แต่ต้องให้คนที่จะรับช่วงต่อพร้อมมือ แล้วรีบสลับกันทันที เพราะไม่ควรห่างการปั๊มหัวใจเกิน 10 วินาที 

หากมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า) ให้ถอดเสื้อผู้หมดสติออก ถ้ามีขนหน้าอกมากก็ให้โกนออกก่อน แล้วทำตามคำแนะนำของเครื่อง เริ่มจากวางเครื่องลงไปที่หน้าอก ให้แผ่นบนอยู่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา แผ่นล่างอยู่ชายโครงด้านซ้าย จากนั้นเครื่องจะสั่งให้ทุกคนออกห่างจากผู้ป่วย เพื่อทำการตรวจคลื่นหัวใจ หากคลื่นเต้นพลิ้ว เครื่องจะสั่งให้ช็อต และส่งสัญญาณไฟให้ผู้ปฐมพยาบาลกดสวิตซ์ แล้วสั่งให้ทำการปั๊มหัวใจต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องทำตามคำแนะนำของเครื่องเออีดีจนกว่ารถพยาบาลมารับตัว (เครื่อง AED จะมีระบบการสั่งใช้งานเป็นภาษาไทย) 

**ข้อควรรู้ สำหรับผู้ปฐมพยาบาล ไม่ต้องกังวลเรื่องการปั๊มหัวใจจะมีความผิด เนื่องจากผํู้ที่หมดสติ ไม่มีชีพจร หรือจังหวะเต้นชีพจรไม่ดี ถือว่าตายแล้ว การปั๊มหัวใจเป็นการช่วยชีวิต แต่ในกรณีหากคุณสามารถที่จะทำการช่วยเหลือได้ แต่กลับนิ่งเฉยหรือไม่ช่วยเสียเลย จะเข้าข่ายมีความผิดได้**

เห็นได้ว่าเราทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรควูบหรือหมดสติได้ทุกเวลา โดยที่ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้หลักหรือวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้บ้าง เผื่อคนใกล้ชิดหมดสติ หรือเจอคนเป็นลมโดยไม่รู้สาเหตุ จะได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และคุณจะเป็นผู้ช่วยชีวิตคนได้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นหมอก็ตาม เพียงแค่รู้หลักการปฐมพยาบาล ทำอย่างถูกวิธี ตัดสินใจให้เร็ว และไม่นิ่งเฉยที่จะให้การช่วยเหลือ 

scroll to top