Close
Thailand and the world with daily News updates including news, articles.
About       Advertising       Contact

ระวัง! ดื่มน้ำเยอะเกินไป อาจเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้!!

Beautiful young fitness woman drinking water after running exercise

ร่างกายคนเรามี น้ำ เป็นส่วนประกอบ 70% และกิจกรรมในแต่ละวันก็ส่งผลให้เราสูญเสียน้ำออกไปไม่ใช้น้อย ๆ ทั้งในรูปแบบของเหงื่อ น้ำตา หรือ การขับถ่ายหนัก-เบา  เราจึงต้องดื่มน้ำให้มากเพียงพอเพื่อทดแทนในส่วนนั้น และเราส่วนใหญ่ย่อมรู้กันดีว่า ควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตร / วัน แต่..การดื่มน้ำมากเกินพอดีที่ร่างกายต้องการ เสี่ยงต่อการเกิด “ภาวะน้ำเป็นพิษ” ได้

ภาวะน้ำเป็นพิษ หรือ Water intoxication คือ ภาวะที่ร่างกายมีน้ำสะสมมากเกินไป ส่งผลให้มีโซเดียมในเลือดต่ำ และทำให้ของเหลวในร่างกายไม่สมดุล อันเนื่องมาจากไม่สามารถกำจัดน้ำออกจากร่างกายได้ในอัตรปกติ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ มีอาการเหนื่อย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เมื่อเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง 

สามารถพบภาวะน้ำเป็นพิษได้ทั่วโลก เนื่องจากเกิดขึันได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในผู้สูงอายุ เพราะขีดจำกัดในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายที่เสื่อมลง ทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดน้ำในร่างกายลดลงไปด้วย ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวเดิมอยู่ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เป็นต้น ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้สูงขึ้น และมักจะพบอาการในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 

ภาวะน้ำเป็นพิษ สาเหตเกิดจากอะไร 

สาเหตุการเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เนื่องจากดื่มน้ำมากเกินความต้องการของร่างกาย หรือกำจัดน้ำออกจากร่างกายได้น้อยกว่าปกติ (ทางไต / ทางปัสสาวะ) ทำให้มีปริมาณน้ำในเลือดมาก แต่โซเดียมในเลือดเจือจาง (Dilutional Hyponatremia) จนเกิดความไม่สมดุลของเลือดและของเหลวในร่างกาย 

สาเหตุภาวะน้ำเป็นพิษที่พบได้บ่อย ได้แก่ 

  • ภาวะน้ำเป็นพิษในทารก ร่างกายเด็กอ่อนมีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงถึง 75% จึงค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ จากการดื่มน้ำมากเกินไป อีกทั้งเด็กอ่อนนั้นยังมีการเก็บสะสมโซเดียมในร่างกายได้น้อย ยิ่งเสี่ยงต่อการมีโซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย 
  • ภาวะน้ำเป็นพิษในผู้ป่วยจิตเวช  มีผู้ป่วยจิตเวชหลายกลุ่มที่มักจะมีพฤติกรรมดื่มน้ำปริมาณมากแทบจะตลอดเวลา จนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ 
  • ผู้ป่วยที่กินอาหารทางปากได้น้อย หรือกินทางปากไม่ได้เลย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับอาหารและน้ำดื่มจากท่อให้อาหาร หรืออาจร่วมกับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ จึงมักจะมีแนวโน้มทำให้มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย เนื่องจากอาหารที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับ มักจะเป็นอาหารที่มีโซเดียมต่ำกว่าอาหารปกติทั่วไป 
  • นักกีฬาที่ใช้กำลังมาก เช่น นักไตรกีฬา นักวิ่งมาราธอน แข่งจักรยาน แข่งเรือพาย โดยนักกีฬากลุ่มนี้มักจะมีความกระหายน้ำมาก เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำในรูปแบบของเหงื่อจำนวนมาก ทำให้มีการดื่มน้ำระหว่างเล่นกีฬา หรือระหว่างการแข่งขันมากเกินปกติ  
  • ผู้ที่ออกแรงมากหรือผู้ใช้แรงงาน คนที่ต้องออกแดดจัด รวมถึงผู้ที่ต้องทานยาบางประเภท เช่น กลุ่มยา MDMA ทำให้เสียเหงื่อมากขึ้นกว่าปกติ จึงมีความกระหายน้ำมาก และดื่มน้ำมากขึ้น

อีกปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เนื่องจากการกำจัดน้ำออกร่างกายได้น้อยกว่าปกติ เช่น 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ กลุ่มโรคประจำตัวเหล่านี้ส่งผลต่อการสะสมน้ำในร่างกายได้สูง 
  • ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมลง จึงมีการกำจัดน้ำออกจากร่างกายได้น้อยลงตามไปด้วย ผนวกกับเป็นวัยที่มักจะมีโรคประจำตัวต่าง ๆ ยิ่งช่วยเสริมให้ก่อภาวะน้ำเป็นพิษได้ง่ายขึ้น 

ภาวะน้ำเป็นพิษมีอาการอย่างไร 

อาการของภาวะน้ำเป็นพิษที่สามารถพบได้ เช่น 

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • กล้ามเนื้อกระตุก 
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • เป็นตะคริว 
  • อาการทางสมอง สับสน มึนงง สมองบวม 
  • มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำมาก 

ภาวะน้ำเป็นพิษ วิธีรักษาอย่างไร

  • จำกัดปริมาณการดื่มน้ำ/ วัน ตามแพทย์สั่ง 
  • ให้ทานอาหารที่มีโซเดียม หรืออาหารรสเค็ม 
  • ให้ยาขับน้ำ / ขับปัสสาวะ 
  • ให้ยาเพิ่มโซเดียม เช่น ให้ยาเม็ด Sodium chloride หรือ ให้สารละลาย Sodium chloride ทางหลอดเลือดดำ ในกรณีมีโซเดียมในเลือดต่ำมาก ๆ 
  • รักษาประคับประคองอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดศีรษะในกรณีปวดศีรษะรุนแรง ให้ยากันชัก กรณีที่มีอาการชัก เป็นต้น

ภาวะน้ำเป็นพิษ วิธีป้องกันอย่างไร 

  • ดื่มน้ำในปริมาณที่สมดุลกับร่างกายและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน 
  • กรณีเสียเหงื่อ เสียน้ำมาก เช่น ใช้แรงงานในการทำงาน เล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก ควรดื่มน้ำเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เพื่อรักษาความสมดุลของโซเดียมในเลือด 
  • กรณีมีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำดื่ม / วัน ให้เหมาะสมกับร่างกายตนเอง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  
  • หมั่นสังเกตสีปัสสาวะบ่อย ๆ หากสีปัสสาวะจางมาก จนใกล้เคียงกับสีน้ำดื่ม แสดงว่าดื่มน้ำมากแล้ว 
  • ควบคุม ดูแลโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ และภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ 
  • เมื่อซื้อยากินเอง ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ เพื่อป้องกัน และลดโอกาสผลข้างเคียงต่าง ๆ จากยา 
scroll to top