โรคตากุ้งยิง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hordeolum คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่าง อันเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีตุ่มหนองบวมขึ้นมา บางคนอาจมีอาการเจ็บหรือปวดดวงตา หรือเมื่อไปสัมผัสบริเวณที่เป็นตากุ้งยิง ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตาแดง หรือน้ำตาไหล
ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร วิธีการรักษาทำอย่างไร
ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus เป็นเชื้อที่ได้พบได้บนผิวหนังในภาวะปกติทั่วไป โดยเชื้อนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงใด ๆ แต่เมื่อไรที่เชื้อนี้เข้าสู่ภายใต้ผิวหนังจนเกิดการติดเชื้อ ก็จะส่งผลให้เกิดตุ่มบวมนูน หรือมีลักษณะเป็นฝีและมีหนองอยู่ด้านใน ซึ่งเป็นอาการของ “ตากุ้งยิง”

ตากุ้งยิง อาการเป็นอย่างไร
เมื่อเริ่มติดเชื้อตากุ้งยิง อาการเริ่มต้น คือ เจ็บหรือปวดบริเวณเปลือกตา จากนั้นจะเริ่มมีตุ่มบวมแดงด้านบนหรือด้านล่างเปลือกตา อาจมีอาการตาแดง หรือน้ำตาไหลร่วมด้วยในบางราย
โดยตากุ้งยิงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- ตากุ้งยิงภายนอก : หรือชนิดหัวผุด มีตุ่มบวมขนาดใหญ่บริเวณขอบเปลือกตาด้านนอก อาจมีอาการอักเสบ มีหัวหนอง และเจ็บปวดเมื่อสัมผัส
- ตากุ้งยิงภายใน :หรือชนิดหัวหลบใน มีตุ่มบวมด้านในเปลือกตา และมีหนอง แต่หัวจะชี้เข้าด้านในเปลือกตา และเจ็บหรือปวดน้อยกว่าตากุ้งยิงภายนอก
วิธีรักษาตากุ้งยิง
โดยส่วนใหญ่แล้ว ตากุ้งยิงสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์หรือใช้ยาปฏิชีวนะ สำหรับบางคนอาจมีการแตกของตุ่มอักเสบและมีหนองไหลออกมาใน 3-4 วันแรก ซึ่งการดูแลและรักษาตากุ้งยิงด้วยตนเองในช่วงที่มีอาการ ทำได้ดังนี้
- ประคบอุ่น โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบไว้ที่ตาประมาณ 5-10 นาที อาจทำวันละ 3-5 ครั้ง หรืออาจมากกว่านั้นเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อเป็นการระบายหนองให้ออกได้เร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า โดยเฉพาะบริเวณดวงตา หรือถ้าจำเป็นต้องแต่งหน้า ควรงดบริเวณดวงตา ล้างเครื่องสำอางและใบหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอนทุกครั้ง
- เปลี่ยนเครื่องสำอางที่ใช้กับดวงตาทุกชนิด อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน
- งดการใส่คอนแทคเลนส์ ก่อให้เกิดอาการตาแห้ง และลดการระคายเคือง
- ไม่ใช้ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
- ห้ามบีบ แคะ แกะ หรือเจาะตุ่มหนองออกเอง
- ห้ามขยี้ตาหรือนำมือไปสัมผัส

เมื่อไรที่ต้องพบแพทย์
กรณีที่มีอาการปวดมาก บวมแดงเป็นบริเวณกว้าง อาการไม่ดีขึ้น รู้สึกตาพร่า การมองเห็นไม่ชัด ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับยาปฏิชีวนะจากแพทย์ หรือทำการส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลในกรณีที่มีแนวโน้มการติดเชื้อรุนแรง