Close
Thailand and the world with daily News updates including news, articles.
About       Advertising       Contact

HOME ISOLATION สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับไหน

อย่างที่เรารู้กันดีในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยตอนนี้ ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต และแบบที่แสดงอาการน้อยหรือติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ทำให้สถานพยาบาลและบุคลากรทางแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรับรองต่อจำนวนผู้ป่วย จึงได้มีมาตรการหาแนวทางปรับรูปแบบการดูแล โดยการแบ่งระดับผู้ป่วยเป็นสีแดง สีเหลือง และสีเขียว ซึ่งระดับสีแดงจะหมายถึงอาการรุนแรงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ แต่บทความนี้เราจะกล่าวถึง“ระดับสีเขียว” คือผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย 

ผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน สามารถกลับไปพักฟื้นหรือแยกกักตัวรักษาได้ที่บ้านต่อโดยต้องผ่านความยินยอมของหมอและความสมัครใจของผู้ป่วย ที่เราได้ยินกันบ่อยๆตอนนี้ว่า “Home Isolation” เพื่อให้เตียงกับผู้ป่วยระดับสีแดงท่านอื่นได้รับการรักษา และถึงแม้จะกักตัวเองอยู่ที่บ้านแต่ก็ภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์-พยาบาล ซึ่งคอยให้คำปรึกษา ติดตามและประเมินอาการของผู้ป่วย โดยมีการแจกปรอทวัดไข้ ยา อุปกรณ์ และเครื่องมือวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน

Home Isolation เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่ยังมีอาการน้อย หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ เพื่อรอแอดมิทโรงพยาบาลทำการเข้ารักษาในระดับต่อไป โดยปกติแล้วผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มแพร่เชื้อตั้งแต่ก่อนมีอาการให้เห็น 1-3 วัน ไปตลอดระยะที่ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้วหรือมีอาการน้อยอาจยังมีเชื้อที่สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้อยู่ ในรูปแบบของสารคัดหลั่ง น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้ว และผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ หรือแม้แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงใกล้ชิดหรือสัมผัส ก็ต้องมีการแยกตัวเพื่อกักตัวหรือทำการรักษาออกห่างจากผู้อื่นเพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยระหว่างนี้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากอยู่ร่วมกับครอบครัว หมั่นล้างมือตลอดเวลาทั้งก่อนและหลังจับสิ่งของ แยกสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว แยกห้องน้ำหรือถ้ามีห้องน้ำห้องเดียวก็ต้องกะระยะความห่างในการใช้ประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคือควรแยกอยู่เพียงลำพัง อาจมีผู้คอยดูแลในการอำนวยความสะดวกอยู่ห่างๆ

ข้อดีของ Home Isolation จะช่วยลดความแออัดของจำนวนผู้ป่วยในสถานที่พยาบาล ลดปัญหาเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยไม่ทั่วถึง ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเพิ่ม การอยู่บ้านช่วยลดความเครียดเป็นผลต่อสุขภาพจิตดีขึ้น และยังช่วยแบ่งเบาหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมากจนเป็นลมในหน้าที่ และบางท่านติดเชื้อจนต้องเสียชีวิตลงไปหลายท่านตามที่เราเห็นกันในข่าว การทำ Home Isolation ยังทำให้จัดการระบบการดูแลและรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องตามขั้นตอนจากระดับอาการผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

ผู้ป่วยโควิดแบบไหนที่สามารถทำ Home Isolation 

  • เมื่อทราบผลตรวจจากโรงพยาบาลว่าติดเชื้อ
  • ทำ RT-PCR หรือ Rapid Antigen Test  แล้วผลเป็นบวก(ติดเชื้อ) 
  • มีไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศา ขึ้นไป 
  • ระดับออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 96% 
  • มีอายุน้อยกว่า 60 ปี  
  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  
  • พักอาศัยอยู่คนเดียวหรือสามารถแยกอยู่คนเดียวได้ 
  • ไม่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวไม่มากกว่า 90 กิโลกรัม 
  • ไม่มีอาการหายใจเร็ว ไม่มีอาการหายใจเหนื่อยลำบาก 
  • ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก 
  • พิจารณาตามดุลพินิจของแพทย์ 
  • ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวหรือกลับไปรักษาตัวที่พักของตนเอง 
  • ไม่มีอาการปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์ 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย Home Isolation และควรมีอุปกรณ์ดังต่อไปนี้ 

  • เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย ถุงสำหรับขยะติดเชื้อ ทิชชู่ ทิชชู่เปียก น้ำยาฟอกขาวสำหรับทำความสะอาด และ ยารักษาโรคประจำตัว 
  • อุปกรณ์การตรวจสอบทางการแพทย์เบื้องต้น ปรอทวัดไข้ เครื่องมือวัดระดับออกซิเจนในเลือด ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ 
  • ผู้ป่วยโควิดต้องอาศัยในบริเวณที่พักตลอดระยะเวลากักตัว ห้ามออกจากที่พักเด็ดขาด
  • มีห้องนอนส่วนตัว ถ้าไม่มีก็ต้องนอนให้ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุดหากอยู่ร่วมบ้านกับผู้อื่น และต้องเปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
  • ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากไม่ได้อยู่คนเดียว
  • กรณีไม่ได้อยู่คนเดียวต้องแยกการซักผ้า แยกของใช้ส่วนตัว แยกการใช้ห้องน้ำ และแยกขยะ
  • ติดต่อกับแพทย์หรือโรงพยาบาลตลอดเพื่อทำการติดตามอาการ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ให้ครบ 5 หมู่
  • ในกรณีต้องการทานสมุนไพรควบคู่ระหว่างทำการรักษาตัว ต้องทำการศึกษาให้ถ่องแท้ และทานตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและไม่เกิดโทษ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ควรได้รับการพักผ่อนจากการนอนหลับเต็มที่ 7-8 ชั่วโมง 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่อย่ามากเกินพอดี เพราะจะเป็นภาระต่อระบบการขับน้ำในร่างกาย 
  • ดูแลตัวเองให้มากที่สุดตามความเหมาะสม
  • นอกจากงดผู้ป่วยออกจากบ้านแล้ว งดผู้มาเยี่ยมด้วย 
  • หากมีความจำเป็นต้องเจอผู้คน ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาและอยู่ห่างกัน 2 เมตร
  • เมื่อไอจามในขณะไม่ได้สวมหน้ากาก ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูกแทนมือปิด
  • กรณีให้นมบุตร มารดาต้องสวมหน้ากากและล้างมือก่อนสัมผัสบุตร
  • ไม่ทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ส่วนการส่งอาหารให้วางไว้ด้านนอก ไม่ต้องเจอหรือสัมผัส
  • ทิ้งหน้ากากที่ใช้แล้วและขยะปนเปื้อนสารคัดหลั่งในถุงแดงเพื่อให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อหรือใส่ถุงพลาสติกแล้วปิดปากถุงให้สนิท เขียนที่ถุงว่าขยะติดเชื้อก่อนทำการทิ้งลงถังขยะ เพื่อให้ผู้ทำการเก็บขยะมีความระมัดระวัง

ระหว่างที่ทำการ Home Isolation ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ วัดอุณหภูมิและออกซิเจนในเลือดทุกวัน หากรู้สึกว่ามีอาการแย่ลง เช่น มีอาการหอบ เหนื่อย ไข้สูง ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ทำการรักษาหรือหน่วยแพทย์ทันที และใช้รถส่วนตัวหรือติดต่อให้รถพยาบาลมารับเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และควรใส่หน้ากากตลอดเวลาที่เดินทาง และทำการเปิดหน้าต่างรถเพื่อระบายอากาศหากมีผู้ร่วมเดินทาง 

กรณีผู้ป่วยหรือทราบว่าตนติดเชื้อ แล้วยังไม่ได้ทำการเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือที่ชุมชน (Community Isolation) ให้ทำการติดต่อหน่วยสปสช.โดยผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถโทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ส่วนผู้ใช้สิทธิประกันสังคมโทรสายด่วน 1506 กด  6  แต่ถ้าผู้ป่วยต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาหรือต่างจังหวัด โทร 1330 กด 15  

scroll to top