มะกรูด ไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง เป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นตามธรรมชาติในไทย อินเดีย ศรีลังกา พม่า และ ฟิลิปปินส์ เมื่อต้นมะกรูดโตเต็มที่ จะมีลักษณะใบออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแผ่นใบ และ ส่วนก้านใบ ส่วนผลมีลักษณะเป็นคลื่นขรุขระ โดยทั้งส่วนใบ ดอก และผล จะมีต่อมน้ำมันหอมระเหยจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งใช้กลิ่นเพื่อการบำบัดรักษา ใช้ในธุรกิจสปา เครื่องสำอาง หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น ทำให้ความต้องการใบและผลมะกรูดในท้องตลาดสูงขึ้นตามไปด้วย
แต่เนื่องจากมะกรูดเป็นพืชที่ออกดอกตามฤดูกาล ส่งผลให้บางช่วงมีผลผลิตไม่เพียงพอ บทความนี้ได้รวบรวมเทคนิคการผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม เพื่อนำมาเผยแพร่แก่ชาวเกษตรและผู้ที่สนใจปลูกมะกรูดจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้
โดย รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ นครปฐม ได้กล่าวว่า การผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า จะมุ่งเน้นการเจริญเติบโตด้านกิ่งใบเป็นหลัก ดังนั้นจะต้องกระตุ้นด้วยการตัดแต่ง รวมถึงระยะปลูกและจำนวนต้นที่ปลูกนั้น จะต้องมีความเหมาะสม ซึ่งจะต้องคำนึงในส่วนต่าง ๆ ต่อไปนี้

1.พื้นที่
พื้นที่ปลูกจะต้องมีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำท่วมขัง โดยดินมีค่า pH 5.5 – 7 จึงจะถือว่าดินมีอินทรียวัตถุสูง หรืออาจปรับแต่งด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด และควรมีการพรวนดินเพื่อไม่ให้ดินแน่นแข็งเกินไป

2.ระยะปลูกและการเตรียมแปลงปลูก
การเตรียมแปลงปลูกและจำนวนต้นมะกรูดที่จะปลูก จะสัมพันธ์กับระยะปลูก โดยความกว้างของแปลง 1 เมตร ยกระดับความสูงของแปลง อยู่ที่ประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร ระยะความห่างระหว่างจุดกึ่งกลางของแปลง 1.5 เมตร ส่วนระยะความห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ปลูกแบบสลับฟันปลา ให้สะดวกต่อการการตัดแต่ง เพื่อใช้ในการควบคุมขนาดของต้น

3.กิ่งพันธุ์
สามารถใช้พันธุ์ต้นมะกรูดที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด กิ่งปักชำ หรือกิ่งตอนก็ได้ แต่ในช่วงระยะแรกของกิ่งที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะเติบโตช้ากว่าแบบอื่น และไม่ว่าจะเป็นวิธีการปลูกด้วยวิธีใด ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกจะต้องปลอดโรคแคงเกิร์ส้ม เพราะหากมีติดเข้าไปในแปลงปลูก จนมีการแพร่ระบาด จะยากมากสำหรับในการกำจัด และโรคนี้ยังจำกัดต่อการส่งผลผลิตไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอีกด้วย ดังนั้นจึงควรทำการคัดเลือกกิ่งให้ดี ตัดแต่งกิ่งหรือใบที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาไฟ จากนั้นนำไปแช่ในสารปฏิชีวนะ สเตรปโตมัยซิน ที่ความเข้มข้น 500 ppm ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนนำกิ่งไปปลูก

4.อายุต้นมะกรูดที่เริ่มให้ผลผลิต
สามารถเริ่มตัดแต่งกิ่งเพื่อจำหน่ายได้หลังจากทำการปลูกไปแล้วประมาณ 4 – 6 เดือน และสามารถอยู่ได้หลายปี หากมีการดูแลบำรุงเป็นอย่างดี

ต้นทุนการผลิตมะกรูดภาคเกษตรกร
การปลูกมะกรูดเพื่อตัดใบในภาคเกษตร ณ ปัจจุบัน มีการปลูกมะกรูดในระบบชิด คือ ระยะปลูก 2×2 เมตร โดยสามารถปลูกมะกรูด 400 ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งหากราคากิ่งพันธุ์มะกรูดเสียบยอดอยู่ที่กิ่งละ 25 บาท ในพื้นที่ 1 ไร่ คิดค่ากิ่งพันธุ์ 10,000 บาท รวมค่าปุ๋ย ระบบน้ำ ค่ายากำจัดศัตรูพืช และรายการอื่นๆ ประมาณไร่ละ 5,000 บาท เมื่อรวมๆแล้วเงินลงทุนในปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท / ไร่ ซึ่งต้นมะกรูดจะสามารถเริ่มตัดใบขายได้ เมื่อต้นเริ่มมีอายุตั้แต่ 3 ปีขึ้นไป และจะตัดได้ปีละ 4 รุ่น ยิ่งมีการบำรุงดูแลรักษาอย่างดี ต้นมะกรูดก็จะมีอายุได้ยาวนานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว

เทคนิคและเทคโนโลยีในการผลิตใบมะกรูด สำหรับแปลงปลูกมะกรูด
อาจารย์ รวี ได้กล่าวว่า เทคนิคในการจัดการแปลงมะกรูด คือ การใช้ผ้าพลาสติกหรือฟางข้าวคลุมแปลงปลูก เพื่อรักษาความชื้น และเป็นการป้องกันวัชพืช รวมไปถึงศัตรูพืชอื่นๆ อย่างเช่น แมลง เป็นต้น และเมื่อมีการใช้ผ้าพลาสติกคลุมแปลง ก็ควรใช้ระบบน้ำหยดสำหรับการให้น้ำพร้อมกับปุ๋ย แต่กรณีที่ไม่ได้มีการใช้ผ้าพลาสติก สามารถเลือกระบบการให้น้ำตามความเหมาะสม ส่วนการให้ปุ๋ยนั้น จำเป็นจะต้องให้ปุ๋ยที่มีแร่ธาตุ N : P : K โดยใช้สัดส่วน 5 : 1 : 3 หรือ 5 : 1 : 4 หรือในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งดูตามความเหมาะสม และควรเสริมแร่ธาตุอื่นๆด้วย

การผลิตใบมะกรูด
เมื่อปลูกได้ประมาณ 4 – 6 เดือน ก็เริ่มตัดแต่งกิ่งได้โดยตัดให้อยู่ในระดับความสฝุง 60 – 80 เซนติเมตร จากผิวดิน และควรกำจัดกิ่งที่อยู่ในแนวนอนออกไป และตาจะเริ่มผลิหลังจากตัดแต่ง โดยการผลิตใบมะกรูดควรปฏิบัติดังนี้
1.กิ่งควรอยู่ในแนวตั้งฉาก หรืออาจอยู่ในระดับที่เกือบตั้งฉาก เพราะจะทำให้มีจำนวนกิ่งและใบมาก และมีใบขนาดใหญ่
2.ระดับการตัดแต่ง ไม่ควรตัดเกินครึ่งหนึ่งของความยาวกิ่ง หากตัดเหลือแต่ตอของกิ่ง ทำให้การตาของกิ่งผลิช้าลง
3.ขนาดของกิ่ง ควรเลือกกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร