Close
Thailand and the world with daily News updates including news, articles.
About       Advertising       Contact

Q&A ข้อสงสัยก่อน-หลัง ฉีดวัคซีนกันโควิด19

Vaccine vial mockup with a needle syringe background

อาจมีใครหลายๆคนมีข้อสงสัยก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด ทำให้ไม่แน่ใจว่าควรไปฉีดวัคซีนหรือไม่ เรามีบางหัวข้อที่เป็นคำถามยอดฮิตมาฝากและคลายข้อสงสัยกันค่ะ 

Q : คนที่ดื่มชา-กาแฟเป็นประจำ ต้องงดก่อนรับการฉีดวัคซีนไหม 

A : สำหรับผู้ที่ดื่มชา-กาแฟเป็นประจำไม่จำเป็นต้องงด แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ดื่มประจำ อาจจำเป็นต้องเลี่ยงหรืองด เพราะคาเฟอีนในชาและกาแฟ มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ อาจทำให้ใจสั่นได้ 

Q : คนที่อยู่ในช่วงคุมกำเนิด กินยา ฉีด หรือฝังยา สามารถรับการฉีควัคซีนได้หรือไม่ 

A : ผู้ที่กำลังคุมกำเนิด ไม่จำเป็นต้องหยุดยา 

Q : แพ้อาหาร ฉีดวัคซีนได้ไหม 

A : คนแพ้อาหารสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ 

Q : ผู้หญิงหลังคลอดฉีดโควิดได้เลยหรือไม่

A : ผู้หญิงหลังคลอดสามารถฉีดวัคซีนได้เลย ไม่ต้องรอ

Q : แม่ที่ติดโควิดหรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อ สามารถให้นมลูกได้หรือไม่ 

A : สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติแต่ต้องสวมหน้ากากและล้างมือทุกครั้งก่อนให้นม 

Q : แม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ไหม

A : หญิงในช่วงให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนได้และให้นมบุตรได้ปกติ

Q : ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ไหม 

A : สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เพราะวัคซีนไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ 

Q : ผู้มีประจำเดือนฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม 

A : ผู้มีประจำเดือนสามารถฉีดวัคซีนได้

Q : ต้องดื่มน้ำมากน้อยแค่ไหนก่อนฉีดวัคซีนโควิด 

A : สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ ไม่มากไม่น้อยเกินไป 

Q : คนที่เคยติดโควิดและหายแล้ว ควรฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่

A : สำหรับคนที่เคยติดโควิดแต่หายแล้วจะยังมีภูมิอยู่ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นควรเข้าทำการรับวัคซีนโควิด 

Q : ผู้ป่วยเบาหวานสามารถฉีดวัคซีนได้ไหม 

A : แม้จะเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็สามารถเข้ารับวัคซีนได้ 

Q : ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงควรฉีดวัคซีนโควิด

A : เพราะผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี 

Q : ก่อนฉีดและหลังฉีดวัคซีนโควิด ต้องงดออกกำลังกายไหม  

A : ก่อนฉีดและหลังฉีดวัคซีนสามารถออกกำลังได้ตามปกติ แต่อย่าหักโหมมากเกิน แต่ถ้ามีไข้ก็ควรงดออกกำลังกายทุกชนิดก่อน

Q : หลังฉีดวัคซีนมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้อ่อนๆ 

A : เป็นปกติของร่างกายที่จะเริ่มสร้างภูมิหลังได้รับวัคซีน อาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีไข้อ่อนๆ ซึ่งจะหายไปเองในประมาณ 1-3 วัน อาจทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการ

Q : ฉีดวัคซีนโควิดบริจาคเลือดได้ไหม 

A : คนที่ฉีดวัคซีนโควิดสามารถบริจาคเลือดได้หลังจากฉีดแล้ว 1 สัปดาห์ 

Q : ถูกสุนัขหรือแมวกัดก่อนไปทำการรับวัคซีนโควิด ควรฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักก่อนหรือหลังวัคซีนโควิด 

A : ควรรีบทำการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักทันที ไม่ต้องรอฉีดวัคซีนโควิดก่อน เพราะไม่มีปัญหาต่อวัคซีนร่วมกัน

Q : มีไข้หลังฉีดวัคซีนโควิดควรทำอย่างไร 

A : แนะนำให้ทานยาพาราเซตามอล แต่ถ้าหากมีอาการเหนื่อยหอบมาก หรือแน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที  

Q : จะรู้ได้อย่างไรว่าอาจมีอาการเสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน 

A : อาการที่อาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด สังเกตได้จาก ปวดหัวรุนแรงและต่อเนื่อง มีอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มอิ่ม ปวดหลังและปวดท้องรุนแรง มีจ้ำเลือดตามตัว ตุ่มน้ำมีเลือดออกภายใน แขน ขาบวมและปวด 

ไขข้อข้องใจระหว่างอาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้จากวัคซีนโควิด

อาการไม่พึงประสงค์ที่ควรพบแพทย์ 

  • มีไข้สูงกว่า 39 เซลเซียส 
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจลำบาก
  • มีอาการเวียนหัว แขนขาอ่อนแรง
  • ปากบวม หน้าบวม เป็นลมพิษ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง

อาการแพ้

ทางการแพทย์ อาการแพ้ จะหมายถึง อาการที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อยาหรือวัคซีนมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ ส่วนอาการแพ้ที่สำคัญ คือ การแพ้แบบแอนาฟิแล็กซิสที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮิสตามีน ทำให้เกิดอาการในระบบต่างๆของร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนว่าเป็นอาการแพ้ 

ลักษณะอาการแพ้รุนแรง

การแพ้รุนแรงชนิดแอนาฟิแล็กซิส จะมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • ระบบผิวหนังหรือเยื่อบุ มีผื่นลมพิษ มีผื่นแดง คัน ลิ้น-เพดานอ่อนและปากบวม
  • ระบบทางเดินหายใจ คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดตอนหายใจเข้า 
  • ระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ความดันเลือดลดลงหรือการทำงานของระบบต่างๆล้มเหลว เช่น เป็นลม มีอุจจาระหรือปัสสาวะราด 

วิธีดูแลเบื้องต้น

  • หากมีอาการเวียนศีรษะหรือหน้ามืดให้นอนราบลง ห้ามลุกยืนเร็วๆ 
  • เมื่อหายใจไม่สะดวก ให้นั่งเอนตั้งศีรษะสูง
  • รีบไปพบแพทย์ ติดต่อ 1669 

นี่เป็นข้อสงสัยบางข้อที่อาจทำให้ไม่แน่ใจก่อนจะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เราจึงนำมาฝากเพื่อคลายข้อสงสัยในบางหัวข้อ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน และความเลวร้ายทั้งหลายจะจบลงในไม่ช้านี้ 

scroll to top